ทีดีอาร์ไอจัดเสวนา "สวัสดิการประชาชนและมาตรการแก้จน บนโจทย์วินัยการคลัง" ระบุ แจกเงินไม่ได้เลวร้ายแต่ต้องทำอย่างยั่งยืนที่ทำอยู่เนื้อแท้คือหาเสียง และทำครั้งเดียวก่อนเลือกตั้ง แนะต้องเป็นสวัสดิการที่ส่งเสริมการผลิต และเคารพผู้เสียภาษี ชี้ทหารไม่เก่งเลือกตั้งเลยต้องใช้ทางลัดด้วยการแจกเงิน

วันที่ 14 ธ.ค. 2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเสวนาสาธารณะในประเด็นเรื่อง "สวัสดิการประชาชนและมาตรการแก้จน บนโจทย์วินัยการคลัง" โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แจกเงินไม่ได้เลวร้ายแต่ต้องทำอย่างยั่งยืน

ดร.สมชัย กล่าวว่า หลายท่านที่คิดว่าการแจกเงินเป็นเรื่องแย่มาก แต่อาจต้องชวนให้คิดใหม่ เพราะมีหลักฐานทางวิชาการบ่งชี้ว่าการแจกเงินโดยภาครัฐช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตัวอย่างเช่นประเทศกลุ่ม OECD มีความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากกลไกตลาดไม่น้อยกว่าไทย เพียงแต่ภาครัฐเข้าไปแทรกแซง เช่น เก็บภาษีแบบก้าวหน้า ใช้จ่ายเงินเพื่อประชาชนรากหญ้า ดังนั้นความเหลื่อมล้ำในยุโรปลดลงไป 25% เมื่อเทียบกับไม่มีรัฐเข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้ยังพบว่าใน 25% ที่ลดลงไปนั้น กว่า 19% มาจากรายจ่ายเงินโอน พูดง่ายๆก็คือการแจกเงินนั่นเอง

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาว่าเหตุใดการแจกเงินจึงลดความเหลื่อมล้ำได้มาก หากพูดถึงกลุ่มคนจน การแจกเงินคือวิธีหนึ่งในการลดผลกระทบจากความยากจนได้ตรงจุด เช่น บางครอบครัวไม่มีเงินจึงไม่มีสารอาหารเพียงพอ ก็สามารถเอาเงินไปซื้ออาหารได้ ขณะที่อีกครอบครัวอยู่ห่างไกลหน่วยบริการสาธารณสุข ก็สามารถเอาเงินนั้นไปเป็นค่าเดินทางได้ หมายความว่าแต่ละครอบครัวมีความต้องการที่เกิดจากความจนไม่เหมือนกัน การไม่แจกเงินแล้วรัฐแจกเป็นอาหารหรือบริการอื่นๆ อาจตอบโจทย์ได้เพียงบางครอบครัว

นอกจากนี้ การแจกเงินยังเป็นการสร้างโอกาส เปรียบเทียบกับวาทกรรมว่าให้เบ็ดหรือให้ปลา ทุกคนตอบว่าให้เบ็ด แต่ถ้ามองกลับกันว่าให้ปลาเพื่อให้หลุดพ้นวงจรความยากจนขึ้นมาก่อน เมื่อพ้นความจนแล้วสามารถสร้างเบ็ดได้ และเป็นเบ็ดที่ตรงกับที่ต้องการมากกว่าเบ็ดที่รัฐทำให้ ขณะเดียวกัน การแจกเงินมีต้นทุนการบริการจัดการต่ำ เช่น ถ้าให้ใช้บัตรคนจนซื้อของที่ร้านธงฟ้า ร้านค้าก็ต้องไปซื้อเครื่องรูดบัตร แต่ถ้าแจกเงินเลยก็สามารถซื้อของที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องติดตั้งเครื่องรูดบัตร

ดร.สมชัย กล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือภาครัฐต้องใช้จ่ายเงินเพื่อคนจนเท่าไหร่ ถ้าดูตัวเลขของ OECD พบว่าภาครัฐใช้จ่ายเงินในด้านสังคมสูงประมาณ 20% ของ GDP ขณะที่ไทยจ่ายในด้านสังคมน้อยมาก ประมาณ 7.8% ของ GDPเท่านั้น คำถามคือแล้วควรเพิ่มเป็นเท่าไหร่ สำหรับไทยอาจจะไม่ต้องเท่า OECD โดยอาจตั้งเป้าว่าเพิ่มเป็น 10% แต่ 10% นี้หมายความว่ารัฐต้องเพิ่มงบประมาณด้านสังคมปีละ 350,000 ล้านบาท

"ประเด็นต่อมาคือหากต้องใช้จ่ายด้านสังคมจำนวนมากแล้วฐานะทางการคลังจะเป็นอย่างไร เมื่อดูแนวโน้มหนี้สาธารณะ รัฐบาลตั้งบขาดดุลทุกปีแต่หนี้สาธารณะไม่ได้เพิ่ม ยังยืนอยู่ที่ 30-40% ซึ่งหากไปดูรายละเอียดพบว่า 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่มาจากการขาดดุลการคลังยังคงมีสัดส่วนในการเพิ่มหนี้สาธารณะ 7.1% แต่หนี้ที่ลดลงคือหนี้ที่เกิดจากการชดเชย FIDF ประมาณ 3.4% ทำให้ตัวเลขสาธารณะยังคงสูสีกัน อย่างไรก็ดีเมื่อหนี้ที่เกิดจากการชดเชย FIDF ลดลงในอัตรานี้ อีก 6 ปีก็น่าจะหมดแล้ว ดังนั้นถ้ายังคงขาดดุลการคลังอยู่ หนี้สาธารณะจะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะถึง 60% ของ GDP ภายใน 15 ปี" ดร.สมชัย กล่าว

คำถามต่อมาคือแล้วจะรักษาวินัยการคลังอย่างไร อย่างแรกคือเรียงลำดับความสำคัญของงบประมาณใหม่ ถ้าจะเพิ่มความสำคัญของรายจ่ายภาครัฐในด้านสังคมก็ต้องลดงบประมาณด้านอื่นลง เช่น งบป้องกันประเทศ หรือลดรายจ่ายด้านเศรษฐกิจเพราะตนคิดว่ารัฐบาลเข้าไปยุ่งกับเศรษฐกิจมากเกินไปทั้งที่หลายๆเรื่องควรให้เอกชนเป็นตัวนำ หรือดูที่การเพิ่มรายได้ เช่น เพิ่มภาษีต่างๆ ซึ่งในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มที่กังวลกันว่าเพิ่มแล้วจะสร้างภาระแก่คนจน ตนคิดว่าวิธีที่ดีคือขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไป แต่กันเงินไว้ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สำหรับคนจนในลักษณะที่เป็น Political Earmark

สำหรับนโยบายรากหญ้าของ คสช.ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ดร.สมชัย กล่าวว่าได้ทำอยู่หลายเรื่อง เช่น ช่วยเหลือแบบโอนเงินเกษตรกรในลักษณะต่อไร่ มีการเติมเงินลงกองทุนหมู่บ้านประมาณ 2-3 ครั้ง ช่วยเหลือ SMEs/วิสาหกิจชุมชน มีกองทุนประชารัฐ มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและสุดท้ายคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมงบประมาณทั้งหมดประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท หรือประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งหากมองในลักษณะของรายจ่ายรัฐในด้านสังคมก็ไม่ได้ถือว่าเยอะมาก เมื่อเทียบกับเงินที่ควรเพิ่มอีกปีละ 350,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายดังกล่าวก็มีประเด็นว่าใช้เงินอย่างเหมาะสมหรือไม่เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง สวัสดิการในลักษณะถ้วนหน้าต่างๆรัฐบาลก็ยั้งมือไว้ เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด คุณภาพการศึกษา รวมทั้งไม่มีนโยบายที่เตรียมรับมือคนจำนวนมากที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ก็คือกลุ่มแรงงานที่อายุ 40 ปีขึ้นไปและการศึกษาไม่เกิน ป.6 กลุ่มนี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังแน่นอนเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน ขณะที่รัฐบาลก็ยังไม่มีนโยบายรองรับคนกลุ่มนี้

ขณะที่มาตรการล่าสุดที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น ใช้เงินประมาณ 38,000 ล้านบาทในการช่วยค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ซึ่งเนื้อแท้ก็คือการแจกเงิน การใช้จ่ายของรัฐในลักษณะนี้เป็นนโยบายหาเสียงแน่นอน เพราะเป็นนโยบายที่จ่ายครั้งเดียวและเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง ไม่มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจมหภาค หรือหากบอกจะช่วยผู้สูงอายุหรือกลุ่มต่างๆ คำถามคือทำไมทำครั้งเดียว ทำไมไม่ทำแบบถาวร ดังนั้นโดยธรรมชาติก็คือการหาเสียง อย่างไรก็ดีการหาเสียงก็เป็นเรื่องปกติในระบบการเมือง เพียงแต่นโยบายครั้งเดียวเหล่านี้ควรจะมีการพัฒนาไปสู่นโยบายที่ยั่งยืนบ้าง

สำหรับข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ตนมี 4 ข้อเสนอคือ 1.ต้องยึดทัศนคติต่อคนจนที่ถูกต้อง ไม่คิดว่าจนเพราะทำตัวเองแต่จนเพราะเคราะห์ร้าย 2.เสนอนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ 2.จริงจังในการหาแหล่งรายได้เพิ่ม เช่น รณรงค์ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้คนร่วมมือจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นรับผิดชอบแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 4.บอกต่อประชาชนว่านโยบายที่หาเสียงนั้นมีต้นทุนการคลังเท่าไหร่ แล้ะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ภาคประชาชนตามไปตรวจสอบในภายหลัง

ต้องทำให้นักการเมืองเคารพผู้เสียภาษี

ผศ.ดร.อธิภัทร กล่าวว่า คำถามที่นักเศรษฐศาสตร์ห่วงมากที่สุดคือมาตรการหาเสียงลักษณะนี้มีความฉาบฉวย ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบถึงผลกระทบต่อแรงจูงใจต่อคนที่เข้าร่วมโครงการ ผลกระทบต่อวินัยการคลังในระยะยาว ผลต่อหนี้สาธารณะจะเป็นอย่างไร

ผศ.ดร.อธิภัทร ยกตัวอย่างโครงการที่ขาดการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมา 3 โครงการ คือ 1.โครงการรถคันแรก งานวิจัยพบว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนก่อหนี้ผ่อนรถอย่างเกินตัว เกินความสามารถที่จะรับได้ ผลที่ตามมาคือส่งผลลบต่อสุขภาพทางการเงินของผู้เข้าร่วมโครงการเอง ทั้งความสามารถในการชำระหนี้ ความสามารถในการสร้างหนี้ใหม่ และที่สำคัญคือขนาดของโครงการนี้ใหญ่มาก นอกจากเกิดผลกระทบต่อผู้เข้าร่วมแล้วยังส่งผลให้เกิดความอ่อนแอต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

2.มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของรัฐบาลในปีนี้ เป็นการสร้างแรงจูงใจในลักษณะเดียวกันกับโครงการรถคันแรก คือเร่งให้คนใช้จ่ายเพื่อแลกกับการคืนภาษี สมมุติว่ามีบัตรคนจน แปลว่ารายได้ไม่เกินเดือนละ 8,000 บาท แต่หากจะคืน VAT 5% แปลว่าต้องเร่งใช้จ่ายสินค้า 10,000 บาท/เดือน แต่โชคดีที่ขนาดของโครงการนี้ไม่ใหญ่มากและมีกลไกการใช้สิทธิค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นมาก แต่ก็สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ไตร่ตรองถึงผลกระทบให้ดีก่อนทำโครงการ

3.มาตรการช็อปช่วยชาติและสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ คนที่ได้ประโยชน์มาตรการนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือคนรวยซึ่งมีประมาณ 7% ของผู้ยื่นภาษีบุคคลธรรมดาเท่านั้น

"สิ่งที่ผมคิดว่าน่ากังวลคือเราขาดกลไกในการติดตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจากมาตรการเหล่านี้ เราขาดการประเมินว่ามาตรการเหล่านี้มีประสิทธิผลเพียงใด รวมๆแล้วแต่ละปีเราเสียเงินไปเท่าไหร่ ถ้าเลือกเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับภาษีและการลงทุน จะพบว่าต้นทุนแต่ละปีอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท นี่คือ 20% ของรายรับที่เก็บได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปี" ผศ.ดร.อธิภัทร กล่าว

คำถามที่ตามมาคือในยุคที่รัฐบาลนิยมแจกแบบนี้ จะทำอย่างไรที่ความยั่งยืนทางการคลังจะไม่ถูกคุกคาม ในปีนี้เห็นการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลัง แต่ตนคิดว่ายังไม่เพียงพอในการควบคุมพฤติกรรมรัฐบาลทั้งหลายไม่ให้ทำเสียวินัยทางการคลัง สิ่งที่ขาดคือ 1.การติดตามและเปิดเผยต้นทุนอย่างเป็นระบบ ต้นทุนเหล่านี้ไม่ได้จำกัดแต่งบประมาณเท่านั้น ยังมีรายจ่ายแฝงคือต้นทุนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ และต้นทุนผ่านการชดเชยรัฐวิสาหกิจต่างๆ กิจกรรมกึ่งการคลังต่างๆ ในพ.ร.บ.นี้ยังไม่มีช่องทางเปิดเผยต้นทุนเหล่านี้ต่อสาธารณะ

2.การประเมินความคุ้มค่าอย่างเป็นกลาง คีย์เวิร์ดคือคำว่าเป็นกลาง ทำอย่างไรให้สังคมเชื่อถือได้จริงๆ การจะประเมินความคุ้มค่าได้ก็ต้องดูว่าวัตถุประสงค์ของโครงการเขียนอย่างไร ซึ่งลักษณะการเขียนวัตถุประสงค์โครงการของข้าราชการก็จะเขียนไว้กว้างๆ จึงแทบไม่มีวิธีประเมินความคุ้มค่าอย่างชัดเจนเลย ประเด็นต่อมาคือทำอย่างไรให้คนประเมินความคุ้มค่านี้เป็นกลางจริงๆ ถ้าให้สภาพัฒน์ฯประเมิน สภาพัฒน์ฯก็เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลสั่งได้อยู่ดี ดังนั้นต้องเป็นหน่วยงานอิสระ

3.ทำอย่างไรให้สาธารณชนมีความรู้ทางการคลัง รู้ทันนักการเมือง มี Tax Literacy รู้ว่าตัวเองเป็นเจ้าของเม็ดเงินภาษี และรัฐบาลเอาเงินมาจ่ายแบบนี้พอใจหรือไม่

"3 ข้อนี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้นักการเมืองเคารพผู้เสียภาษีมากขึ้น" ผศ.ดร.อธิภัทร กล่าว

ต้องเป็นสวัสดิการที่ส่งเสริมการผลิต

ด้าน ผศ.ดร.ภาวิน กล่าวว่า หากพิจารณาดุลการคลังในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เทียบกับการเติบโตของ GDP จะพบว่าขาดดุลมาโดยตลอด และระยะหลังก็มีแนวโน้มขาดดุลสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เมื่อเทียบรายได้สุทธิของรัฐบาลต่อ GDP ก็อยู่ที่ 15-16% ไม่เคยเพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่วนรายจ่ายของรัฐเมื่อแยกเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุนกับรายจ่ายประจำพบว่า ก่อนปี 2540 มีรายจ่ายลงทุนประมาณ 36% แต่หลังจากนั้นแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เฉลี่ยประมาณ 20% เท่านั้น และการขาดดุลงบประมาณในช่วง 20 ปี ถูกในไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในสัดส่วนของงบรายจ่ายประจำด้วย อาจจะบอกได้ว่าศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาวไม่ได้ถูกพัฒนาจากฝั่งของภาครัฐมากเท่าใดนัก

ขณะเดียวกันหากพิจารณาปัจจัยท้าทายในอนาคต โครงสร้างประชากรจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ประชากรวัยแรงงานลดลง ภาระคนทำงานเพิ่มสูงขึ้น อีกปัจจัยคือธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด อีกนัยหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลกำลังมากระทบตัวเรา อย่างภาคการเงินเห็นชัดเจน หรือภาคอื่นๆก็ได้รับผล เช่น สื่อมวลชน คนหันไปรับข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น คนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงรายจ่ายของรัฐบาล อาจจัดได้ 2 ประเภทคือ รายจ่ายที่ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น รายจ่ายเพื่อการศึกษา รายจ่ายด้านสาธารณสุข รายจ่ายเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กับรายจ่ายที่ไม่ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างเรื่องสวัสดิการก็ชัดเจนว่าแจกเงินออกไปแต่ละปี คนใช้เงินเก่งขึ้นแต่ไม่ได้ทำงานเก่งขึ้น ในทางทฤษฏีมีข้อสรุปที่ชัดเจน 2-3 ประเด็นคือ 1.การปรับเพิ่มรายจ่ายที่ส่งเสริมการผลิตพร้อมกับลดรายจ่ายที่ไม่ส่งเสริมภาคการผลิต จะช่วยส่งเสริมความสามารถของประเทศในระยะยาวได้ 2.การปรับเพิ่มรายจ่ายที่ส่งเสริมการผลิตผ่านการเพิ่มภาษีที่ไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือน พูดง่ายๆคือเป็นภาษีที่ไม่ลดทอนแรงจูงใจในการทำงานของคน 3.รายจ่ายที่ให้ผลตอบแทนในเรื่องอัตราการเติบโตของประเทศระยะยาว ประกอบด้วยรายจ่ายด้านการศึกษา สาธารณสุข และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

"เมื่อดูรายจ่ายของรัฐบาลตามลักษณะงาน จะเห็นชัดเจน 2-3 ประการคือสัดส่วนรายจ่ายด้านการศึกษามีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-4 ปีหลัง รายจ่ายด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มคงที่ และสัดส่วนรายจ่ายด้านการสังคมสงเคราะห์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะ 3-4 ปีหลัง" ผศ.ดร.ภาวิน กล่าว

ผศ.ดร.ภาวิน กล่าวทิ้งท้ายว่า หากคำนึงถึงศักยภาพของรัฐบาลในระยะยาว จำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพการผลิตอย่างมาก ถ้าบอกว่าคนไม่มีจะกินจึงต้องแจก ก็ต้องถามว่าแล้วเมื่อไหร่ถึงจะมีกิน ดังนั้นเสนอให้ปรับรูปแบบการใช้จ่ายสวัสดิการของรัฐใน 3 ประเด็นคือ 1.เราให้สวัสดิการได้แต่น่าจะให้สวัสดิการที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของผู้คน เช่น สวัสดิการเกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ รวมถึงสถานดูแลผู้สูงอายุ สวัสดิการที่ผูกติดกับการทำงาน ถ้าเสียภาษีก็น่าจะได้อะไรบางอย่างจากรัฐ หรือการให้สิทธิประโยชน์กับสุภาพสตรีในการลาคลอด เป็นต้น

2.ลดภาษีเพื่อจูงใจคนให้ร่วมทำงาน เช่น ลดภาษีแก่ผู้สูงอายุที่ทำงานในระบบ 3.ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ที่ยังสามารถพัฒนาได้อีกหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน รัฐควรหันมาจริงจังในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพรายจ่ายเหล่านี้ให้มากขึ้น

ทหารไม่เก่งเลือกตั้งเลยต้องใช้ทางลัดด้วยการแจกเงิน

ผศ.ดร.ประจักษ์ ให้ความเห็นในมุมมองนักรัฐศาสตร์ว่า ในเชิงหลักการไม่มีใครปฏิเสธการที่รัฐใช้จ่ายเงินด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ประเด็นอยู่แค่ว่าการใช้จ่ายอย่างไรจึงจะมีความยั่งยืนและแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง แก้ความเหลื่อมล้ำได้จริง และการจ่ายเงินแบบให้แล้วจบไปเป็นรูปแบบที่ไม่พึงปรารถนาเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี นโยบายประชานิยมลักษณะนี้พบเห็นได้บ่อยครั้งในการเมืองไทยระยะหลัง ทั้งจากการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูเลือกตั้งก็ยิ่งเห็นลักษณะการแจกเงินแบบให้แล้วจบไปยิ่งมากขึ้น เรื่องนี้เป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและหากไม่มีการแก้ไขเชิงโครงสร้างก็จะเห็นภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ผศ.ดร.ประจักษ์ ขยายความว่า จากการศึกษาในทางรัฐศาสตร์พบว่าวิธีการได้มาซึ่งคะแนนเสียงมีเพียง 3 วิธีหลัก 1.การแจกเงิน/สิ่งของเป็นรายหัว ให้แล้วจบไป 2.ให้ในเชิงโครงการแก่คนในพื้นที่ เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และ 3.การสัญญาว่าจะให้ในเชิงนโยบาย จากการวิจัยพบว่าในสังคมที่พรรคการเมืองอ่อนแอ จะพบ 2 รูปแบบแรกเป็นหลัก ยิ่งสังคมไร้เสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลรู้ว่าเข้าสู่อำนาจแล้วมีอายุ 1-2 ปี ก็ต้องหาวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการชนะใจเพราะไม่มีเวลามาคิดถึงการออกแบบในระยะยาว ยิ่งไม่มีฐานเสียงยิ่งแจกเงินเยอะ ขณะที่คนที่มีฐานเสียงแน่นหนาจะทำแบบที่ 2 มากกว่า เช่น จังหวัดที่มีตระกูลการเมืองผูกขาด แจกเงินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็ยังชนะเลือกตั้งเพราะให้ประชาชนตลอดทั้งปีอยู่แล้วผ่านการทำโครงการต่างๆ ราคาตลาดในการซื้อเสียงโดยทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณหัวละ 500 บาท แต่คนที่มีฐานเสียงจะจ่ายน้อยกว่า เช่น อาจจ่าย 100 บาทก็พอ

"ก่อนปี 2540 จะพบรูปแบบที่ 1 และ 2 แต่หลังจากปี 2540 เริ่มมีรูปแบบที่ 3 พรรคการเมืองเสนอนโยบายแข่งขันกัน แม้จะไม่ดีมากแต่ก็ต่างจากยุคแรกๆ ถามว่าทำไมการแข่งขันเสนอนโยบายเกิดขึ้น ก็เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดกลไกการเลือกตั้งใหม่ ออกแบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนว่าทำไมการเลือกตั้งครั้งนี้ รูปแบบการหาเสียงกลับไปเป็นแบบที่ 1 และ 2 เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดระบบการเลือกตั้งลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ออกแบบให้การแข่งขันกลับไปอยู่ที่เขตเลือกตั้ง การแข่งขันเชิงนโยบายจึงลดลง เห็นภาพการดูดตัวนักการเมืองเข้าไปอยู่พรรคตัวเองให้มากที่สุด การหาเสียงก็เป็นไปในลักษณะสั้นๆ" ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกว่า ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงต้นของการรัฐประหาร รูปแบบการใช้จ่ายเงินไม่ได้เป็นแบบนี้ แถมยังมีโจทย์เรื่องวินัยทางการเงินการคลัง รัฐบาลชัดเจนว่าจะไม่ทำประชานิยม แต่เมื่อถึงช่วงนี้ก็ชัดเจนว่าของขวัญปีใหม่มาในช่วงฤดูเลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะทหารไทยเก่งในการรัฐประหารแต่ไม่เก่งในการเลือกตั้ง เป็นมาตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร แล้ว ฉะนั้นเมื่อมาถึงการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารอนากมีอำนาจต่อ ก็ไปอาศัยบริการนักการเมืองมาตั้งพรรคนอมินีให้ เป็นพรรคเฉพาะกิจเน้นชนะการเลือกตั้ง ถ้าดูตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมาจะเห็นว่าการเลือกตั้งภายใต้รัฐประหารทุกครั้งจะมีพรรคนอมินีลักษณะนี้เกิดขึ้นและเนื่องจากเป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่มีความเป็นสถาบัน จึงเห็นสิ่งที่มาคู่กันคือนโยบายการแจกที่มาพร้อมพรรคนอมินีของทหาร

"ถ้าเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยปัจจุบัน เป็นเรื่องแสนปกติธรรมดาและเข้าใจได้ พอรัฐบาลทหารอยากมาเล่นการเมืองแต่ไม่มีสถาบันทางการเมืองของตัวเอง ไม่มีชุดนโยบายของตัวเอง มันก็กลับมาสู่รูปแบบว่าจะชนะเลือกตั้งอย่างไรให้เร็วที่สุด ก็คือดึงนักการเมืองผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นกับแจกเงิน และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นแล้วว่าแจกงานผ่านนโยบายของรัฐได้ "ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

สำหรับประเด็นทางออกของเรื่องนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนไม่มีสิทธิต่อรองเลย พรรคการเมืองอ่อนแอ สิ่งที่จะพบคือการให้ในลักษณะสังคมสงเคราะห์ ขึ้นกับความเมตตาของรัฐ ให้เมื่ออยากให้ ขณะที่ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง ประชาชนมีแค่สิทธิเลือกตั้งแต่ไม่มีสิทธิอื่นๆ พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้นมาเล็กน้อย นโยบายก็จะออกมาแบบประชานิยมตอบโจทย์ระยะสั้นเพราะประชาชนมีอำนาจต่อรองแค่ในช่วงเลือกตั้ง

"ถ้าเราอยากได้สวัสดิการถ้วนหน้าที่เป็นระบบ มีความต่อเนื่องระยะยาว ระบบแบบนี้ไม่ได้มาจากเบื้องบนแต่มาจากการต่อสู้ต่อรอง ดังนั้นในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง ถ้าจะออกแบบสวัสดิการที่เป็นระบบก็ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี มีทั้งคนได้และคนเสีย แน่นอนว่าคน 1% ที่อยู่บนยอดของสังคม ก็จะต่อต้านและล็อบบี้การเมืองไม่ให้ระบบแบบนี้ออกมา ดูแค่ภาษีที่ดินก็คงเห็นภาพชัด สุดท้ายการออกแบบระบบสวัสดิการต่างๆเราตัดปัจจัยเรื่องอำนาจการเมืองออกไปไม่ได้ จำเป็นต้องเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชน ให้รวมกลุ่มและเพิ่มความเข้มแข็งในการต่อรองแก่ตัวเอง รวมทั้งต้องทำให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็งมีการแข่งขันเชิงนโยบาย" ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวทิ้งท้าย