ภาคประชาชนจี้ยุติแก้ 3 กฎหมายสุขภาพกังขาผุดซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ คุม-รวบอำนาจซุกไว้ใต้ระบบราชการ ทำลายหลักการปฎิรูประบบสุขภาพประเทศ ทำระบบหลักประกันสุขภาพถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ เปิดทางผลประโยชน์เอื้อนายทุน เสี่ยง กม.ถูกแทรกแซงลิดรอนสิทธิ์ จี้พรรคการเมืองกางนโยบายหาเสียงสวัสดิการหลักประกันสุขภาพ
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดเวทีเสวนา “3 กฎหมายสุขภาพ ก้าวหน้าหรือล้าหลัง?” (พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ซุปเปอร์บอร์ด, พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีกลุ่มภาคประชาชน ที่ทำงานด้านสุขภาพ เข้าร่วมระดมความเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายสาธารณสุขในอนาคต
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า มีข้อกังวลถึงการออกพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ที่จะเข้ามาดำเนินการระบบสุขภาพผิดทาง โดยเฉพาะการพยาพยามเข้ามารวบอำนาจ เอาไปไว้ใต้ระบบราชการถือเป็นการถอยหลังเข้าคลองครั้งสำคัญของระบบประกันสุขภาพของประเทศ
นายวิฑูรย์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการแฝงอิงภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท แทนภาคประชาสังคมซึ่งเป็นการทำลายหลักการปฎิรูปสุขภาพ เพราะที่ผ่านมา ทั้ง สปสช. สสส. หรือ สช.สร้างอำนาจประชาชน ภาคประชาสังคมสามารถต่อรองได้อย่างเข้มแข็งกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งนี้คือวัตถุประสงค์แอบแฝงไม่แตกต่างจาก พ.ร.บ.สสส.ที่ส่อเจตนาเดียวกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน บริการหลักประกันสุขภาพเป็นนโยบายที่สร้างหลักประกันดูแลสุขภาพประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนยากจนหรือคนชั้นกลางทั่วไปให้มั่นคงในชีวิต การแปรเจตนาออกไปจะส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศ เช่นเดียวกับความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ที่มุ่งจำกัดวงเงิน การนำมติ ระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่บอร์ด สสส.อนุมัติ ต้องไปผ่านความเห็นขอบจากกระทรวงการคลังอีกชั้นหนึ่ง เป็นความพยายามที่สอดไส้มุ่งหมายนำ สสส.ให้อยู่ภายใต้ระบบราชการซึ่งทำลายเจตนารมณ์การก่อเกิด สสส.อย่างรุนแรง
“ประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องซึ่งไม่ได้หมายถึงการปกป้ององค์กร หรือบุคคล แต่เป็นการปกป้องระบบปฎิรูปสุขภาพของประเทศ ที่จะถูกทำลาย เปลี่ยนแปลง ถอยหลังครั้งใหญ่ของประเทศนี้ ทั้งที่ผ่านมาก้าวมาถูกทางสร้างหลักประกันที่สำคัญ และเป็นพัฒนาการทางสังคม” นายวิฑูรย์ กล่าว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ มีแค่การเจาะจงกำกับดูแล เลือกปฎิบัติองค์กรด้านสุขภาพแค่ สปสช.กับ สสส.หรือไม่ เพราะไม่ค่อยตรงไปตรงมา ในตัวโครงสร้างเรียกว่าภาคประชาสังคมบวกเอกชน มีนายทุนตัวแทนอุตสาหกรรม หอการค้าถูกตั้งเข้ามาถือเป็นสัดส่วน 2 ใน 5 ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่เคยเข้ามามีบทบาทอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพมาก่อน มันจึงน่ากังขาว่าซุปบอร์ดสร้างประโยชน์ประชาชนโดยรวม หรือ ต้องการเข้ามาจำกัดบทบาท ขอบเขตอำนาจ ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุด้วยว่า รวมทั้งเบื้องหลังของกลุ่มที่ผลักดันซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพฟากผู้บริหาร สธ. ที่มองเรื่องประกันสุขภาพเป็นภาระประเทศ ทำให้ รพ.ขาดทุน ซึ่งหากซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ ออกนโยบายรอนสิทธิ์เข้าถึงการบริการสุขภาพ ก็จะกระทบบอร์ด สปสช. เพราะซุปเปอร์บอร์ดเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่ากฎหมายของ สปสช. มีสิทธิ์ออกนโยบายกติกา ซึ่งมันจะง่ายต่อการเข้าไปแทรกแซง โดยเฉพาะวิธีคิดที่น่าห่วงในการรอนสิทธิ์ หลักประกันสุขภาพจะกลายเป็นระบบสงเคราะห์ ประชาชนต้องร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งเราต้องตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ในการมีซุปเปอร์บอร์ด ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องตั้งคำถามกับพรรคการเมืองในแต่ละพรรค ทิศทางนโยบายยุทธศาสตร์ประเทศแบบไหน ในเรื่องสวัสดิการผ่านระบบประกันสุขภาพด้วยเช่นกัน
ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ร่างกฎหมายสุขภาพทั้ง 3 ฉบับ ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วม และต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการลักไก่ ยิ่งช่วงใกล้เลือกตั้งยิ่งต้องระวัง คือต้องต่อสู้โครงสร้างหลัก ปกป้องให้กลไกด้านสุขภาพเกิดความก้าวหน้า ไม่ใช่มาทำลายกระบวนการสุขภาพ ทำให้ถอยหลังเข้าคลอง และต้องหยุดใช้วิธีกล่าวหา ทำให้สิ่งที่ถูกกลายเป็นไม่ถูก
“ตอนออกแบบมีเจตนาให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม โปร่งใส ตรงจสอบได้ ไม่เป็นการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการที่อยู่ดีๆ แล้วใครจะมาเปลี่ยนซ้าย ขวา โดยนักการเมือง อย่างกองทุน สสส.เป็นเงินพิเศษที่ไม่ผ่านรัฐสภา เงินประเภทนี้ในต่างประเทศอยากเข้ามาดูแล และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกประเทศ ในกองทุน สสส. สปสช. เป็นกองทุนที่หากประชาชนไม่เข้มแข็งอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.61) เวลา 13.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านสุขภาพ คนพิการ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ จากทั่วทุกภาคของประเทศ กว่า 150 คน จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนและยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติการแก้ไ ขพ.ร.บ.สสส.ไม่ให้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการ ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจเหนือกว่าบอร์ดกองทุน
- 19 views