โวย สธ.-สปสช.เมิน “คืนสิทธิบัตรทองแม่” ตามมติ ครม.ปี 58 ไม่ตรวจสอบหลักฐานต่างด้าวย้อนหลัง โบ้ยซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ทั้งที่อาศัยอยู่ประเทศไทยกว่า 70 ปี แถมมีบัตรขึ้นต้นเลข 3 เข้าตามเกณฑ์ให้สิทธิพื้นฐานสาธารณสุขกับผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ทำแม่ไร้สิทธิรักษาพยาบาล รอลุ้น “กรมการปกครอง” ออกเอกสารรับรองสถานะขอคืนสิทธิ หากไม่เป็นผลเตรียมร้องศาลปกครองต่อ เพราะเป็นสิทธิประชาชนพึงได้รับ
จากมติ ครม.ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 ได้เห็นชอบหลักการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติม โดยเป็นบุคคลมีเลขประจำตัว 13 หลัก ที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) จำนวน 208,631 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอนั้น
นางสาวพรทิพย์ หวังหิรัญโชติ อายุ 45 ปี เปิดเผยว่า ตามมติ ครม.ดังกล่าว มารดาของตน นางบ๊วยตา แซ่บ่าง ปัจจุบันอายุ 85 ปี ต้องอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ต้องได้รับการคืนสิทธิพื้นฐานด้านบริการสาธารณสุข ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการคืนสิทธิดังกล่าว แม้ว่าจะมีการทำเรื่องเพื่อขอคืนสิทธิไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้แต่เดิมแม่เคยได้รับสิทธิบัตรทองและเข้ารับบริการที่ รพ.ไทรน้อย หน่วยบริการประจำ โดยปกติแม่จะเป็นคนสุขภาพดี ไม่ค่อยเจ็บป่วย แต่ในช่วงปี 2557 ซึ่งดวงตาข้างที่ 2 เริ่มมีอาการตาต้อกระจกจึงเข้ารับการรักษา แต่ปรากฏว่าได้รับแจ้งจาก รพ.ว่า แม่ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ เพราะเป็นบุคคลมีปัญหาทางสถานะและสิทธิ ต่อมาจึงได้โทรไปยังสายด่วน สปสช. 1330 ได้บอกให้ไปติดต่อที่กลุ่มงานประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับคำอธิบายว่า แม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวทำให้เป็นบุคคลไร้สิทธิ จึงไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ พร้อมแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวแทน
นางสาวพรทิพย์ กล่าวว่า ขณะนั้นแม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพื่อตัดปัญหาและเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จึงยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างแทน เพราะทาง รพ.เองได้แนะนำให้ทำการซื้อประกันแรงงานต่างด้าวเช่นกัน เพราะหากเราต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดคงไม่ไหว แม้ว่าการยื่นขอทำประกันแรงงานต่างด้าวจะทำให้แม่ที่อายุ 80 ปีกว่าแล้ว ต้องตกอยู่ในฐานะลูกจ้าง และตนซึ่งเป็นลูกต้องเซ็นรับรองในฐานะนายจ้างก็ตาม ตอนนั้นเราได้จ่ายเป็นเงินค่าประกันจำนวน 2,700 บาท ค่าตรวจร่างกาย 500 บาท และยังมีค่าดำเนินการอีก 2,200 บาท ในการรักษาได้เข้ารับบริการที่ รพ.พระนั่งเกล้า และ รพ.ได้แจ้งว่าผู้ป่วยต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 บาท โดยทางครอบครัวได้จ่ายเงินซื้อประกันกับกองทุนไปแล้วประมาณ 2,700 บาท
สำหรับประกันแรงงานต่างด้าวจะให้สิทธิครอบคลุมเพียง 1 ปี หลังจากที่ได้ซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้แม่ต่อเนื่อง 2 ปี ได้รับแจ้งจากกลุ่มงานประกันของ รพ.ไทรน้อย ว่าจะทำการแจ้งชื่อคุณแม่ซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าตามหลักเกณฑ์ตามมติ ครม.ข้างต้น ให้ได้รับสิทธิบัตรทองเช่นเดิมตามนโยบายของรัฐบาล และจะติดต่อกลับมา
“จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่มีการติดต่อใดๆ กลับมาเลย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแม่เกิดอาการขาบวมตั้งแต่ต้นขาลงไปถึงน่อง จึงได้ลองเข้าไปตรวจสอบสิทธิที่เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรากฏว่าแม่ยังคงเป็นบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ทำให้ไม่มีสิทธิบัตรทองเช่นเดิม จึงได้โทรสอบถามไปยัง สปสช. ซึ่งแนะนำให้ไปติดต่อกลุ่มงานประกัน กระทรวงสาธารณสุขเช่นเดิม และจากที่ได้โทรศัพท์ไปยังกลุ่มงานประกัน ได้ส่งต่อให้คุยกับฝ่ายซื้อประกันแรงงานต่างด้าวเลย บอกแต่เพียงว่าไม่ใช่คนไทย ยังเป็นบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ไม่มีสิทธิบัตรทอง”
นางสาวพรทิพย์ กล่าวว่า จากวันนั้นจึงได้ทำการค้นหาข้อมูล โดยดูมติ ครม.ย้อนหลัง และเอกสารแนวทางการดำเนินงานการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่าข้อความเงื่อนไขที่ระบุว่า หากเป็นบุคคลที่มีบัตรขึ้นต้นด้วยเลข 3 และ 4 สามารถขึ้นทะเบียนสิทธิได้ โดยแม่มีบัตรที่ขึ้นต้นด้วยเลข 3 เช่นเดียวกับตนเอง ทั้งแม่ยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ทร.14) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2524 ขณะที่เอกสารหนังสือประจำตัวคนต่างด้าวของแม่ยังออกโดย สน.นางเลิ้งตั้งแต่ปี 2490 เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าแม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2490 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุคืนสิทธิให้ผู้ที่เป็นต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อน 31 พฤษภาคม 2527
“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูเอกสารหลักฐานของแม่ย้อนหลัง รวมถึงใบต่างด้าว ดูแค่ทะเบียนบ้านที่แม่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านที่อยู่ปัจจุบัน ใน จ.นนทบุรี คือในปี 2547 ทำให้ไม่ตรงกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ได้รับคืนสิทธิ และยังไม่มีการสอบถามใดๆ ทั้งที่ใบแสดงบุคคลต่างด้าวมีข้อมูลชัดเจนว่า แม่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันแม่อายุ 85 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมากลับมีการผลักไสและโยนกันไปมาระหว่างสองหน่วยงาน พูดจาเหมือนแม่ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่บุคคลที่พึ่งได้รับสิทธิ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ขอเถียง แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการคืนสิทธิ และแม่เป็นบุคคลที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับสิทธินั้นควรดำเนินการให้ ไม่ใช่เพิกเฉยทั้งที่มีการร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานแล้ว”
นางสาวพรทิพย์ กล่าวว่า จากการปรึกษากับผู้รู้กฎหมายท่านหนึ่งได้แนะนำให้ไปฟ้องที่ศาลปกครองเพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ เรื่องนี้เมื่อเล่าให้ใครฟังต่างลงความเห็นว่า แม่ควรได้รับสิทธิตรงนี้แล้ว อย่างไรก็ตามจากก่อนหน้านี้ที่ได้โทรไปปรึกษากับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยัน เจ้าหน้าที่กรมการปกครองที่รับเรื่องได้ระบุว่าให้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ ของแม่มาตรวจสอบ หากเป็นไปตามนั้นกรมการปกครองจะออกเอกสารรับรองเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันเพื่อนำไปยื่นขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง และจากที่ได้ประสานกับ สปสช.ในส่วนที่ทำงานด้านชุมชนระบุว่า หากได้เอกสารหลักฐานมาแล้วขอให้ยื่นมาแล้วจะดำเนินการให้
“แม่ตอนนี้ขาบวมมาก อยากให้มีสิทธิบัตรทองในการรักษาเพราะบ้านเราไม่ได้ร่ำรวยมาก และเป็นสิทธิที่แม่ควรได้รับ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นขณะนี้ยังพอมีความหวัง คงต้องรอเอกสารรับรองจากกรมการปกครองก่อน แต่กรณีของแม่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของหน่วยงานราชการและความไม่ใส่ใจในทุกข์สุขของประชาชน ทั้งที่รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อคืนสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้แล้ว และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ที่ประสบปัญหานี้เป็นจำนวนมากช่นเดียวกัน” นางสาวพรทิพย์ กล่าว
- 110 views