จากการสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พบว่า 32.2% เห็นการสูบบุหรี่และเคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในมหาวิทยาลัย โดยบริเวณที่พบเห็นการสูบบุหรี่มากที่สุด ได้แก่ ห้องน้ำบนอาคารเรียน บริเวณอาคารจอดรถและบริเวณทางเท้า นอกจากนี้ยังพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ถึง 73.8% ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการควบคุมยาสูบของไทย โดย 40.7% ไม่รู้ว่าภายในตัวอาคารทั้งหมดในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยผลสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองและพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยทำการสำรวจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 351 คน จากทั้งหมด 3,987 คน พบว่า 32.2% เคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง เพราะ 69.8% ไม่กล้าที่จะเดินหนีในขณะที่นั่งคุยกับเพื่อนแล้วเพื่อนสูบบุหรี่ และ 67.8% จำเป็นต้องเดินเท้าผ่านจุดที่คนสูบบุหรี่เป็นประจำ โดยที่นศ.เกือบครึ่ง (46.2%) ไม่ทราบอันตรายจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง, 73.8% ไม่มีความรู้เกี่ยวกับพรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ 40.7% ไม่รู้ภายในตัวอาคารในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่
ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ในส่วนอาคารและหรือสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ซึ่งพรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กำหนดโทษผู้สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ไว้สูงสุด 5,000 บาท แต่หากผู้ดำเนินการไม่จัดให้มีเครื่องหมายแสดงเขตปลอดบุหรี่ให้ชัดเจนและสื่อสารรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตห้ามสูบจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 50,000 บาท ดังนั้นมหาวิทยาลัยควรมีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และการรับรู้ในเรื่องนี้ให้กับนักศึกษา ผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตประจำวันของนักศึกษา เช่น ทางสื่อออนไลน์ ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย และการบูรณาการสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียน
อ้างอิง: รายงานการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พ.ศ.2561 โดย จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ และคณะ (The Public Health Journal of Burapha University : Vol.13 No.2 July - December 2018)
- 6199 views