ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เผยหากผู้ประกันตนยังขาดแคลนยาต้านไวรัสต่อไป คงต้องพากันไปนอนตายแถวๆสำนักงานประกันสังคม เพราะขาดยาก็เหมือนถูกฆ่าให้ตายทั้งเป็น ชี้ สปส.ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาขั้นตอนรับมอบและส่งยาล่าช้าหรือถ้าคิดว่าไม่สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ก็ควรยกให้ สปสช.ไปดูแลแทน

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ขาดแคลนยาต้านไวรัสที่ผู้ติดเชื้อ HIV ในระบบประกันสังคมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทางเครือข่ายอยู่ระหว่างหารือแนวทางการเคลื่อนไหวและคิดว่าอาจต้องพาผู้ติดเชื้อ HIV ไปนอนตายกันแถวๆสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รวมทั้งขอเข้าพบเลขาธิการ สปส.คนใหม่ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ เพราะการขาดยาต้านไวรัสจะทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เหมือนถูกฆ่าให้ตายทั้งเป็น

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนในเขต กทม. และปริมณทล ที่รับผู้ประกันตนไว้ดูแล เดิมทีโรงพยาบาลเหล่านี้จ่ายยาทุก 3 เดือนเพื่อลดผลกระทบจากการลางาน แต่ตั้งแต่ต้นปี 2561 ก็มีปัญหาสะดุดเป็นระยะๆ จนระยะหลังมานี้จ่ายยาให้พอใช้แค่ 3-7 วัน แปลว่าคนไข้ต้องลางานมารับยาถี่มากขึ้น และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบางโรงพยาบาลไม่มียาให้ มีแต่ใบสั่งยาให้ไปหาซื้อเอาเอง

“ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องรับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน แต่ตอนนี้ปัญหาลุกลามไปหลายโรงพยาบาลมาก เท่าที่พบตอนนี้มี 6-7 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลที่เคยเป็นปัญหาซ้ำซากก็ยังเป็นอยู่ ที่สำคัญคือผู้ติดเชื้อขาดยาไปแล้วเรียบร้อยแล้ว ผมโทษการบริหารจัดการระบบที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อ ผู้บริหาร สปส.ควรมี Action บางอย่าง ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ติดเชื้อรออยู่แบบนี้ สปส.ต้องรับผิดชอบ จะปล่อยให้โรงพยาบาลจัดการไปตามยถากรรมมันไม่ถูก” นายอภิวัฒน์ กล่าว

นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เท่าที่สอบถามไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พบว่ามียา แต่ติดขัดในขั้นตอนของ สปส.หลายขั้นตอนมากทำให้ยาไปไม่ถึงโรงพยาบาล ผู้บริหาร สปส. หรือแม้แต่ปลัดกระทรวงแรงงานควรต้องแสดงความรับผิดชอบแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ อย่างปล่อยให้โรงพยาบาลแก้ปัญหาหน้างานกันไปตามยถากรรม อย่าแก้ปัญหาเป็นรายๆ แต่ต้องแก้เชิงระบบ หรือถ้าคิดว่า สปส.ไม่สามารถดูแลให้มีประสิทธิภาพได้ก็ควรยกให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลเสีย เรื่องจะได้จบ อย่าไปฝืนทำในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความสามารถ อย่าแก้ปัญหาเป็นรายๆ เพราะนี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกันสังคมแจงเหตุยาต้านไวรัส HIV ขาด เพราะกระบวนการจัดซื้อตาม กม.ใหม่ต้องใช้เวลา