รองปลัด สธ. ตั้งเป้าปี 2562 โรงพยาบาลวิกฤตการเงินระดับ 7 ต้องลดลงเหลือน้อยกว่า 4% มั่นใจบรรลุทำสำเร็จ เหตุงบประมาณเพิ่มขึ้น มีการกระจายที่เหมาะสม และทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในหัวข้อ “การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 จุดเน้นและประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งอยู่ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2561 ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ สธ.จะขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพด้านการเงินการคลังปี 2562 มีด้วยกัน 7 ประเด็นสำคัญ ทั้งนี้ประกอบด้วย
1. การกระจายอำนาจให้เขตสุขภาพบริหารจัดการ ที่จะสามารถลงลึกไปถึงในระดับจังหวัด ซึ่งจะทำให้เห็นภาพย่อยๆ ได้ดีกว่าการบริหารภาพใหญ่ในระดับประเทศ โดยการบริหารก็จะช่วยเหลือกันทั้งการจัดการตัวเอง การจัดบริการในรูปแบบเครือข่าย
2. การแก้ไขวิกฤตการเงินโรงพยาบาลระดับ 7 และลดความเสี่ยงทางการเงินของโรงพยาบาลระดับ 4-6
3. บริหารหนี้สิน (FIFO) ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อเวชภัณฑ์ร่วมในระดับเขตและระดับประเทศ ซึ่งจะมีการบริหารจัดการทั้งหนี้สิน เจ้าหนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
4. การพัฒนาระบบสารสนเทศทางการเงินและติดตามกำกับ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือในการบริหารบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำ unit cost, unit analysis ที่จะเป็น full cost รวมไปถึงเรื่องของ labor cost ด้วย
5. การพัฒนาระบบการวัดประสิทธิภาพหน่วยบริการ
6. การบริหารร่วมหน่วยบริการ (Merging) ทั้งในเชิงของการบริหารจัดร่วมกัน บริหารการจัดบริการร่วมกัน และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ตัวอย่างเช่น โครงการโรงพยาบาลสามพี่น้องในเขต 10 เป็นต้น
7. การเพิ่มศักยภาพผู้บริหารในเรื่องการเงินการคลัง และการสร้าง New Generation ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
นพ.ไพศาล กล่าวว่า จากข้อมูลไตรมาส 3 ของปี 2558 พบว่ามีโรงพยาบาลวิกฤตระดับ 7 ถึง 103 แห่ง แต่ด้วยมาตรการต่างๆ ของ สธ.ที่ผ่านมา ทำให้วิกฤตโรงพยาบาลค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 13 แห่งในปี 2561
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สธ.กำหนดร้อยละของหน่วยบริการที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน ระดับ 7 ต้องน้อยกว่า 6% แต่เป้าหมายในปี 2562 คือต้องน้อยกว่า 4% ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้จากจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น การกระจายที่เหมาะสม และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- 85 views