ขสช.เรียกร้องนายกรัฐมนตรียกเลิกคำสั่งแก้ไขกฎหมาย สสส. แฉมีความพยายามลดทอนความอิสระ ผลักให้อยู่ใต้ปีกกระทรวงการคลัง ใกล้เคียงระบบราชการ ชี้ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย ถอยหลังเข้าคลอง ข้อท้วงติงเกณฑ์การใช้จ่ายเงิน สสส.ได้มีการแก้ไขระเบียบไปเรียบร้อยแล้ว และกองทุน สสส. เป็นหน่วยงานของรัฐพิเศษ ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 นายเชษฐา มั่นคง ผู้แทนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) กล่าวว่า ตนและเครือข่ายได้ติดตามการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ กฎหมาย สสส.มาอย่างใกล้ชิด ล่าสุดทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขจะจัดให้มีเวทีประชาพิจารณ์การแก้ไขกฎหมาย สสส.อีกครั้ง และเนื้อหาในการแก้ไขกฎหมายมีประเด็นสำคัญที่ ขสช.มีความกังวลมาก คือ การกำหนดให้หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงิน สสส.ต้องเป็นไปตามระบบราชการแบบเก่าและต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าระเบียบการใช้จ่ายเงินตามระบบราชการนั้นมีความล่าช้าและขาดความคล่องตัว ซึ่งไม่เอื้อต่อลักษณะการทำงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส.ที่จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐ สามารถเข้าร่วมในการดำเนินกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะกำลังคนของภาครัฐไม่เพียงพอ เป็นลักษณะของการร่วมกันทำงานไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างหรือว่าจ้างให้ทำงาน
ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงกำหนดให้ กองทุน สสส.เป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ และไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้ สสส.สามารถกำหนดเกณฑ์ระเบียบการใช้จ่ายเงินกองทุนที่เหมาะสมตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยการกำกับดูแลอนุมัติ ของบอร์ดกองทุนฯ ซึ่ง ครม.เป็นผู้ตั้งมา และมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมา กองทุน สสส.ภายใต้ระเบียบที่มีอยู่ ก็ได้ดำเนินการไปเป็นอย่างดีมีผลสัมฤทธิ์ให้เห็นอยู่มากมาย แต่การกำหนดให้การใช้จ่ายเงินกองทุน สสส.เป็นไปตามที่ส่วนราชการดำเนินการอยู่ก็เท่ากับทำให้ กองทุน สสส.ที่มีความก้าวหน้าอยู่แล้ว ต้องถอยหลังเข้าคลองกลายเป็นเพียงส่วนราชการธรรมดาหน่วยราชการหนึ่งเท่านั้น
“การแก้ไขกฎหมาย สสส.ที่อ้างถึงบัญชาของหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กองทุน สสส.มีความยั่งยืน แต่กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขกลับมุ่งมั่นที่จะให้กองทุน สสส.เลิกล้มการใช้ระเบียบของตัวเองแล้วบังคับให้ไปใช้ระเบียบตามระบบราชการนี้ จะไม่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีบัญชาเลย เพราะระบบราชการจะค่อยๆ บั่นทอนความตั้งใจและกำลังใจในการร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพของภาคีไปตามลำดับ และยังเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อสถานะของกองทุน สสส.ที่กำหนดไว้ กฎหมายฉบับปัจจุบันว่ากองทุน สสส. ไม่ใช่ส่วนราชการ หากไม่มีการยกเลิกการแก้ไขกฎหมาย สสส. ภาคีสร้างเสริมสุขภาพอาจดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีเอาผิดต่อคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ได้” นายเชษฐา กล่าว
นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้แทนเครือข่าย ขสช. กล่าวในกรณีเดียวกันว่า เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน2560 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย สสส. ครั้งแรกมาแล้วสองรอบแบ่งเป็นรอบผู้ทรงคุณวุฒิกับรอบของภาคีเครือข่าย ซึ่งภาคีเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย สสส. เพราะเห็นว่า เหตุผลข้ออ้างในการแก้ไขกฎหมายไม่เป็นความจริง มีลักษณะการกล่าวหาว่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณกองทุน สสส.ขาดธรรมาภิบาล ไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งที่ในส่วนของ สสส.ก็ได้มีการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์รวมกว่า 15 ฉบับ ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย สสส.แต่อย่างใด และระบบระเบียบการใช้จ่ายเงินแบบราชการมาจัดการกองทุน สสส.ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าจะแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้จริงหรือไม่
เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นข่าวการทุจริตคอรัปชั่นในส่วนราชการเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่ และที่ตลกร้าย รับไม่ได้คือในบอร์ดของ สสส.ก็มีหน่วยงานของกระทรวงการคลังอยู่ในนั้นด้วยสามารถพิจารณาให้ความเห็นได้เต็มที่อยู่แล้ว แต่เหตุผลใดที่ยังต้องนำกรอบงบประมาณผ่านกลับไปที่กระทรวงการคลังอีก ตรงนี้มันส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ชัดๆ
“หากมีการแก้ไขกฎหมาย สสส.ไปใช้ระบบระเบียบเหมือนกับส่วนราชการต่างๆ เชื่อได้ว่า ภาคีเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนจะรวมตัวเพื่อคัดค้านอย่างเต็มกำลัง เพราะจะทำให้การดำเนินงานของ กองทุน สสส.กับภาคีประชาชนพบปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้าของระบบราชการเอง จนทำให้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพของชาติประสบความล้มเหลวได้ และนำไปสู่ภาระการรักษาพยาบาลมากยิ่งขึ้นได้ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ควรยกเลิกคำสั่งให้แก้ไขกฎหมาย สสส.เพราะไม่มีเหตุผลความจำเป็นอะไรอีกแล้ว” นางสาวสุภาวดี กล่าว
ทั้งนี้ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ประกอบด้วยองค์กรภาคสังคมด้านการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว สตรี คนพิการ แรงงานนอกระบบ ผู้บริโภค คนจนเมืองและชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเกษตร ฯลฯ มีจุดยืนร่วมกันในการสนับสนุนกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพของคนไทย
- 40 views