นักวิจัย เผยคณะทำงานแก้ปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” เตรียมหารือ มท. พม. และสภาความมั่นคงฯ “เปิดลงทะเบียนคนไทยไร้สิทธิ” ทั่วประเทศ สู่การแก้ปัญหาเชิงระบบ เพิ่มความมั่นคงประเทศ หลังผลสำรวจเบื้องต้น 26 จังหวัด พบคนไทยมีปัญหาสิทธิสถานะจำนวนมาก ฐานะยากจน เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการผลักดัน “คนไทยไร้สิทธิ” ให้เข้าถึงสิทธิในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งเพื่อเข้าถึงสิทธิสวัสดิการภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิทธิสำคัญในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน โดยเริ่มแรกได้ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในประเด็นคนไร้บ้านมาก่อน พร้อมทำการสำรวจข้อมูล ซึ่งคนไร้บ้านเหล่านี้มีทั้งที่อาศัยอยู่ใน กทม.และเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ และปัญหาหนึ่งที่พบคือ การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนทั้งที่เป็นคนไทย เกิดและอยู่ในประเทศไทยด้วยสาเหตุต่างๆ ส่งผลให้คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการภาครัฐตามไปด้วย รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลายเป็นคนไทยไร้สิทธิ
ทางภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมพูดคุยและหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะแก้ปัญหานี้ร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบัน สปสช.มีการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากการหารือจึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่วางแนวทางและร่วมผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มไทยไร้สิทธิ
นายอนรรฆ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ สปสช. จึงเห็นว่าควรจะมีการจัดทำข้อมูลคนไทยไร้สิทธิเพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาชัดเจนของกลุ่มคนเหล่านี้ นำมาสู่การสำรวจข้อมูลคนไทยไร้สิทธิเบื้องต้น โดยความร่วมมือ สสส.และ สปสช. ดำเนินการผ่านกลไกเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ตามมาตรา 50 (5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทั้งนี้จากผลการสำรวจเบื้องต้นใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร พบบุคคลที่เป็นคนไทยไร้สิทธิจำนวน 693 คน กระจายอยู่ตามชุมชนในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในเขตเมือง สะท้อนข้อเท็จจริงว่า แต่เดิมเรามักเข้าใจว่าว่าคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ตามชายขอบ ตามแนวชายแดนของประเทศ แต่ความเป็นจริงแล้วมีจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ทั้งยังอยู่กลางใจเมืองของประเทศ เป็นคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่เป็นคนไทย
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ตกอยู่ในสถานะคนไทยไร้สิทธินั้น จากข้อมูลที่รวบรวมได้แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุด้วยกัน คือ 1.ถูกทอดทิ้งแต่กำเนิด 2.พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด เนื่องจากในอดีตการขึ้นทะเบียนประชาชนไม่มีความสำคัญมาก เพราะไม่ได้มาพร้อมสวัสดิการภาครัฐ แตกต่างจากปัจจุบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และ 3.การถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากบางคนไปทำงานต่างจังหวัดและไม่ได้ติดต่อทางบ้านเป็นเวลานานทำให้ครอบครัวและญาติพี่น้องคิดว่าเสียชีวิตหรือสูญหายไป
นายอนรรฆ กล่าวว่า ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนไทยไร้สิทธินั้น ที่ผ่านมาทางเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการช่วยเหลือ โดยมีการพาคนเหล่านี้ไปยืนยันตัวตน ขึ้นทะเบียนคนไทยและขอทำบัตรประชาชน แม้ว่าจะมีจำนวนหนึ่งที่สามารถดำเนินการสำเร็จ แต่มองว่าเป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหารายบุคคล ทั้งมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ดังนั้นจึงมีความเห็นร่วมกันว่า เรื่องนี้น่าจะผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ
“เบื้องต้นเราเห็นว่าน่าจะมีการเปิดให้มีการลงทะเบียนคนไทยไร้สิทธิ ที่เป็นการสำรวจคนไทยที่ตกหล่น ไม่มีบัตรประชาชน เพราะการลงพื้นที่ไปสำรวจเก็บข้อมูลทั้งประเทศเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ หากไม่มีความเจ็บป่วย ต้องการความช่วยเหลือ หรือความจำเป็นต้องรับบริการสวัสดิการภาครัฐก็จะไม่เปิดเผยตัว เราคงต้องประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลจำนวนและสถานการณ์คนไทยไร้สิทธิที่ชัดเจน นำไปสู่การผลักดันแก้ไขปัญหาเชิงระบบต่อไป โดยเฉพาะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าว
เมื่อถามถึงความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการดูแลและช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สิทธินี้ นายอนรรฆ กล่าวต่อว่า มีความจำเป็นใน 2 ประเด็น คือ ผู้มีสถานะคนไทยไร้สิทธิส่วนใหญ่เป็นคนยากจน การช่วยให้เข้าถึงสิทธิ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เขามีสวัสดิการพื้นฐาน ช่วยยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง และเป็นการช่วยลดภาระหน่วยบริการ เนื่องจากในหลายพื้นที่ เมื่อคนเหล่านี้เจ็บป่วยและเข้ารับการรักษา หน่วยบริการจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งการที่คนเหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจะทำให้มีงบประมาณส่วนหนึ่งลงไปยังหน่วยบริการ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการลงได้ นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับภาพรวมสุขภาพทั้งประเทศ ทั้งในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ต่อข้อซักถามว่า มองความเป็นไปได้ในการผลักดันและการตอบรับจากภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิอย่างไร นายอนรรฆ กล่าวว่า คงต้องลองคุยดู แต่จากที่ฟังเสียงจากที่ได้ประสานงานร่วมกัน ทั้งจากกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารในระดับนโยบายต่างเห็นความสำคัญที่ต้องแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยไร้สิทธิเหล่านี้ เพราะวันนี้มิติความมั่นคงของประเทศเปลี่ยนไป โดยเน้นที่การสร้างความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งการปล่อยให้คนไทยจำนวนหนึ่งอยู่ในสถานะคนไทยไร้สิทธิ เท่ากับเป็นหนึ่งในปัญหาความไม่มั่นคงของประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง จึงต้องมีการแก้ปัญหาโดยเร็ว
- 26 views