สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลออกแถลงการณ์แจงนายกสภาการพยาบาลพาดพิง ‘เภสัชกรไม่ทำนอกเวลาราชการ-ไม่ปฏิบัติหน้าที่ใน รพ.สต.’ ชี้ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำประชาชนเข้าใจวิชาชีพเภสัชกรผิด ยืนยันอยู่เวร 24 ชั่วโมงพร้อมกับเพื่อนต่างวิชาชีพใน รพ.เป็นเวลานานแล้ว ส่วนทำหน้าที่ใน รพ.สต.แม้ สธ.ไม่มีกรอบอัตรากำลัง แต่ก็จัดสรรเภสัชกรไปปฏิบัติงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่ รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาลกล่าวพาดพิงการปฏิบัติงานของเภสัชกรในหน่วยงานของรัฐออกสื่อเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 โดยกล่าวพาดพิงถึงเภสัชกรในหน่วยงานของรัฐ ว่า “ไม่มีเภสัชกรในหน่วยงานของรัฐแม้แต่คนเดียวที่ช่วยงานในช่วงนอกเวลาราชการ” และ “ไม่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)” โดยระบุว่า มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการอยู่เวรให้บริการพร้อมกับเพื่อนต่างวิชาชีพในโรงพยาบาลมาเป็นเวลานานมากแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลทุกแห่ง ส่วนกรณีเภสัชกรใน รพ.สต.นั้น แม้ สธ.ยังไม่มีกรอบอัตราเภสัชกรใน รพ.สต.แต่ รพ.ชุมชน ซึ่งเป็นแม่ข่ายของ รพ.สต.จัดสรรเภสัชกรหมุนเวียนลงไปปฏิบัติงานที่ รพ.สต.เป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่กำหนด
พร้อมระบุ เภสัชกรไม่ได้มีหน้าที่แค่จ่ายยาให้กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทร่วมกับสหวิชาชีพ ในการทำหน้าที่ดูแลและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงการออกเยี่ยมบ้านเพื่อความต่อเนื่องของการรักษา และให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดและเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา
แถลงการณ์สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เรื่อง การชี้แจงข้อมูลข่าวคลาดเคลื่อนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่นอกเวลาราชการของเภสัชกรในหน่วยงานของรัฐ
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาบทบาทวิชาชีพของเภสัชกรโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีเภสัชกรที่เป็นสมาชิกกว่า 10,000 ราย ขอชี้แจงกรณีที่มีผู้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 เกี่ยวกับประเด็นร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ซึ่งได้มีการกล่าวพาดพิงถึงเภสัชกรในหน่วยงานของรัฐ โดยมีข้อความที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีเภสัชกรในหน่วยงานของรัฐแม้แต่คนเดียวที่ช่วยงานในช่วงนอกเวลาราชการ” และ “ไม่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)” นั้น เป็นการสื่อสารข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันเป็นการบั่นทอนจิตใจของเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในภาครัฐทั่วทั้งประเทศ ซึ่งได้ตั้งใจอุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกเวลาราชการมาโดยตลอด
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรอย่างถูกต้อง และเชื่อมั่นในการประกอบวิชาชีพของเภสัชกร ซึ่งมีความมุ่งมั่นปฏิบัติงานเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในการใช้ยา สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
1.การกล่าวว่า “ไม่มีเภสัชกรในหน่วยงานของรัฐแม้แต่คนเดียวที่ช่วยงานในช่วงนอกเวลาราชการ”
ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เภสัชกรในหน่วยงานของรัฐมีบทบาทในการดำเนินการและเป็นผู้ประสานงานหลักของระบบยาในองค์กร ซึ่งต้องมีการทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่น ๆ ในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา
ปัจจุบันการให้บริการของกลุ่มงานเภสัชกรรมในหน่วยงานของรัฐ มีการให้บริการผู้ป่วยนอกที่มารับการตรวจรักษาและรับยากลับบ้าน และผู้ป่วยในที่จำเป็นต้องเข้าพักรับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล โดยให้การบริบาลทางเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกเวลาราชการ สอดคล้องกับขนาดขององค์กร ภาระงาน ความซับซ้อนของปัญหาของผู้ป่วย รวมถึงจำนวนของเภสัชกรในองค์กรนั้น ๆ โดยมีมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลกำหนดไว้ชัดเจน และมีการประเมินรับรองคุณภาพตามมาตรฐานดังกล่าว
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) หรือแม้แต่โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ จะมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการอยู่เวรให้บริการพร้อมกับเพื่อนต่างวิชาชีพในโรงพยาบาลมาเป็นเวลานานมากแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลทุกแห่ง
2. คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีเภสัชกรปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)”
ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการบรรจุ หรือกำหนดกรอบอัตรากำลังเภสัชกรให้ปฏิบัติงานประจำที่ รพ.สต. อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแม่ข่ายของ รพ.สต.ได้จัดสรรเภสัชกรหมุนเวียนลงไปปฏิบัติงานที่ รพ.สต.เป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อดูแลการดำเนินการด้านยาแก่ผู้ป่วยที่มารับบริการจาก รพ.สต.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลชุมชนนั้น ๆ รวมถึงการลงไปเยี่ยมบ้านเพื่อให้การบริบาลทางเภสัชกรรมตามบทบาทเภสัชกรครอบครัว
ทั้งนี้ การกำหนดจำนวนบุคลากรและวันในการปฏิบัติงาน ขึ้นกับภาระงาน จำนวน รพ.สต.ในความรับผิดชอบ และอัตรากำลังเภสัชกรที่มีอยู่ ซึ่งหากมีเภสัชกรไม่เพียงพอ อาจมีการจัดสรรเจ้าพนักงานเภสัชกรรมลงไปปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของเภสัชกร
อย่างไรก็ตาม จากบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ร่วมกับข้อจำกัดในการได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลัง ทำให้หลายโรงพยาบาลได้จ้างเภสัชกรเพิ่มในตำแหน่งลูกจ้าง เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมครอบคลุมการให้บริการเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา การจัดให้มีเภสัชกรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ รวมถึงการหมุนเวียนเภสัชกรลงไปปฏิบัติงานใน รพ.สต. จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มงานเภสัชกรรมในหน่วยงานของรัฐทุกแห่งมุ่งมั่นและดำเนินการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในงานบริการและบริบาลทางเภสัชกรรม บนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือการดูแลรักษาและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนนั่นเอง
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ขอชี้แจงบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรโรงพยาบาลเพิ่มเติมว่า เภสัชกรโรงพยาบาล จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ “ยา” ตั้งแต่กระบวนการจัดหา จัดเก็บ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพพร้อมใช้และเพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งรวมถึงการผลิตยาบางรายการที่ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด เตรียมยาและผสมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายตามแพทย์สั่ง เช่น ยาหยอดตา ยาสำหรับผู้ป่วยเด็ก ยาเคมีบำบัด สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์และความจำเป็นในการใช้ของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาล
สำหรับงานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก เภสัชกรโรงพยาบาลมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนจ่ายยา โดยการส่งมอบยาจะประเมินผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ เภสัชกรยังทำหน้าที่กระจายยาไปยังหอผู้ป่วยเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยใน ซึ่งมีรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นกับบริบทของโรงพยาบาล เช่น การจัดยาแบบรายวัน หรือการจัดยาแบบหนึ่งหน่วยการใช้ (unit dose) เป็นต้น
ปัจจุบันเภสัชกรโรงพยาบาลได้ขยายบทบาทไปสู่การดูแลผู้ป่วยด้านยาที่เรียกว่า การบริบาลทางเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและได้รับประสิทธิภาพสูงสุดจากการใช้ยา ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประสานรายการยาสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจรักษาจากแพทย์หลายท่าน ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลเดียวกันหรือต่างโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการได้รับยาซ้ำซ้อน ไม่ได้รับยาที่ควรได้รับ หรือได้รับยาที่ตีกันกับยาเดิม
เภสัชกรจะประเมินและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา วางระบบในการป้องกันอุบัติการณ์แพ้ยาซ้ำ มีการประเมินการใช้ยา การตรวจติดตามและวัดระดับยาในเลือด การบริบาลผู้ป่วยนอกในคลินิกโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึงการบริบาลทางเภสัชกรรมบนหอผู้ป่วย รวมทั้งทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาในทุกมิติให้กับทีมสหวิชาชีพ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดูแลรักษาด้วยยาแก่ผู้ป่วย
การปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมของโรงพยาบาลในประเทศไทยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 การปฏิบัติงานวิชาชีพของเภสัชกรโรงพยาบาลในปัจจุบัน จึงไม่ได้มีเฉพาะการ “จ่ายยา” ให้กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทร่วมกับสหวิชาชีพ ในการทำหน้าที่ดูแลและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงการออกเยี่ยมบ้านเพื่อความต่อเนื่องของการรักษา และให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดและเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา
ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) 17 กันยายน 2561
- 326 views