WHO SEARO ขยายความร่วมมือ สสส. ไทย เดินหน้าจัดการปัญหาโรค NCDs สร้างเกราะป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจการค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ มุ่งส่งเสริมนโยบายอาหารเพื่อสุขภาพ
ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดียในการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก สมัยที่ 71 (71st Session of the WHO Regional Committee for South-East Asia : WHO SEARO RC71) ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการ WHO SEARO ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งศักยภาพการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปี 2561-2563 ระหว่าง WHO SEARO ร่วมกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา
โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในภูมิภาคภาคสูงเป็นอันดับ 1 โดยมีอัตราสูงถึง 8.8 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ในปี 2556 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ถึง 349,090 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 75.2 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยท้ังหมด
โดย ดร.พูนาม กล่าวว่า WHO SEARO มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพของประชากรในภูมิภาคนี้ร่วมกับ สสส. ซึ่งเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สสส.แสดงผลงานให้ทั่วโลกเห็นว่า Earmarked tax หรือ ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ที่ประเทศไทยจัดเก็บเพิ่มได้จากสินค้าทำลายสุขภาพอย่างบุหรี่-สุรา สามารถเป็นกลไกการเงินการคลังเพื่อสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง ที่มีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา WHO และ สสส. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพต่างๆ ที่ลดปัจจัยเสี่ยงจากโรค NCDs จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดี อาทิ มาตรการขึ้นภาษีบุหรี่ การวิจัยเกี่ยวกับโทษจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ (commercial determinants of health) ที่ธุรกิจการค้าแทรกแซงนโยบายหรือส่งเสริมการตลาดของสินค้าที่มีผลเชิงลบต่อสุขภาพ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สสส.จะสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการแทรกแซงนโยบายจากธุรกิจการค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และส่งเสริมนโยบายที่มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการจัดการปัญหาการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อประชากรในภูมิภาคทั้ง 11 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมบริโภคอาหารส่งผลเสียต่อร่างกายมากขึ้น ทั้งอาหาร หวาน มัน เค็ม มีโซเดียมสูง และมีไขมันเกินปริมาณที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ในปี 2558-2561 สสส.และ WHO SEARO ได้ลงนามความร่วมมือทำงานสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ซึ่งผลจากความร่วมมือในครั้งนั้นทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคได้รับการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และทุกประเทศในภูมิภาคได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ชุดมาตรการที่มีความคุ้มทุน (Best Buy Intervention) ในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของโรค NCDs ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยินดีร่วมสนับสนุนงานป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของศักยภาพและธรรมาภิบาลในการจัดการปัญหาปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย และส่งเสริมนโยบายที่มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อจัดการปัญหาปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ของอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนความร่วมมือนี้ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยและประชากรทุกคนในภูมิภาค
- 273 views