กระทรวงสาธารณสุขเผยผลการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว ปี 2561 จัดตั้งทีมหมอครอบครัวแล้ว 806 ทีม พร้อมเดินหน้าขยายเป็น 1,170 ทีมในปีหน้า ชี้ระบบสุขภาพที่ดีต้องมีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งเป็นฐานล่าง คาดหากเมืองไทยพัฒนาเต็มรูปแบบจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลลง 60% และประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้ 50,000 ล้านบาท/ปี
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยเน้นเรื่องการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ เพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนแบบครอบคลุมตั้งแต่การรักษาให้หายจากโรค การป้องกันโรคไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย การส่งเสริมสุขภาพให้มีสุขภาพแข็งแรง และการฟื้นฟูสภาพไม่ให้เสื่อมถอย รวมถึงการคุ้มครองให้คำแนะนำเพื่อประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเน้นให้สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินนโยบายคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) ซึ่งเป็นการการรวมกลุ่มของหน่วยบริการปฐมภูมิให้เป็นเครือข่ายการดูแลประชาชนที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบร่วมกัน โดยมีด้วยแพทย์ พยาบาล ตลอดจนทีมสหวิชาชีพ ลงไปให้บริการถึงในพื้นที่ เปรียบเสมือนประชาชนมีแพทย์ประจำตัว ใกล้บ้านใกล้ใจ เมื่อเจ็บป่วยสามารถไปรับบริการที่คลินิกหมอครอบครัวใกล้บ้านโดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล โดยตั้งเป้าจัดตั้งทีมหมอครอบครัว 3,250 ทีมในปี 2564 และเพิ่มเป็น 6,500 ทีมให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2569
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ขณะนี้การดำเนินงานคืบหน้าไปตามลำดับ โดยปี 2559 - 2560 ได้จัดตั้งทีมหมอครอบครัวแล้ว553 ทีม และในปี 2561 มีคลินิกหมอครอบครัวที่ผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 806 ทีม คิดเป็น 26% ของเป้าหมาย 3,250 ทีม โดยในปี 2562 ตั้งเป้าหมายจัดตั้งทีมหมอครอบครัวให้ได้ 1,170 ทีม หรือคิดเป็น 36% ของเป้าหมาย 3,250 ทีม
ขณะเดียวกันยังได้ผลิตบุคลากรรองรับการขยายงาน PCC อีกหลายช่องทาง ประกอบด้วยการการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โดยมีผู้สมัครเรียน In service Training 199 คน และ Formal training 75 คน และมีแพทย์ที่จบการศึกษา รอสอบวุฒิบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว 154 คน และสอบอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวอีก 40 คน
นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมหลักสูตร “เวชศาสตร์ครอบครัวสำหรับแพทย์ปฏิบัติงานในคลินิกหมอครอบครัว” เพื่อปฏิบัติงานใน PCC ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย โดยมีแพทย์ผ่านการอบรม ปี 2559 - 2560 จำนวน 567 คนและในปี 2561 อีกจำนวน 335 คน ตลอดจนพัฒนาทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรสำหรับพัฒนาศักยภาพบุคลากรในระบบ 8 หลักสูตร สำหรับ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เภสัชกร ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล นักกายภาพบำบัด กลุ่มสหวิชาชีพ และผู้จัดการทีมคลินิกหมอครอบครัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรม ดำเนินการแล้ว จำนวน 809 คน
ในส่วนของการจัดโครงสร้างการบริหารงาน ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่วางกลไกและกระบวนการในการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพโดยการประสานความร่วมมือเพื่อจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยขณะนี้ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติ (28 ส.ค.61) อนุมัติหลักการและรับทราบ โดยให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป และในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองยังเตรียมปรับโครงสร้าง โดยอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานระดับกองในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นเจ้าภาพในการพัฒนานโยบาย กลยุทธ์ และกำกับติดตามงานบริการปฐมภูมิอีกด้วย
“ระบบบริการสาธารณสุขที่ดีควรมีรูปแบบเป็น 3 เหลี่ยมปิรามิด โดยมีระบบบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพเป็นฐานล่าง เน้นงานส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพและป้องกันโรค รักษาโรคพื้นฐาน โรคเรื้อรังโดยมีการดูแลแบบองค์รวม ส่วนตรงกลางปิรามิดเป็นระบบบริการทุติยภูมิ และปลายสุดของปิรามิดคือบริการในระดับตติยภูมิหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆรับการส่งต่อผู้ป่วยมาจากหน่วยบริการทุติยภูมิและปฐมภูมิ อย่างไรก็ดี ภาพของระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันเป็นปิดรามิดหัวกลับ ทำให้มีโอกาสล้มได้ตลอดเวลา ขณะที่แนวโน้มปัจจุบัน สังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มการเจ็บป่วยเปลี่ยนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยาและเวชภัณฑ์ที่มีราคาแพงฯลฯ การพัฒนางานปฐมภูมิจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้แข็งแรง ลดการเจ็บป่วยและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2559 ก็ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้และกำหนดไว้ในมาตรา 258 ช. (5) โดยระบุให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” นพ.เจษฎา กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า จากการศึกษาผลลัพธ์จากการปฏิรูประบบปฐมภูมิในต่างประเทศ พบว่าระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งสามารถช่วยลดการเข้ามาแผนกฉุกเฉิน13-38% ลดการนอนโรงพยาบาล 15-20% ลดค่าใช้จ่ายสุขภาพ 25-30% ลดการตายทารกแรกเกิด 10-40% อีกทั้งพบว่าลงทุน 10,000 ล้านบาท คาดว่าลดค่าใช้จ่ายลง 100,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่าเมื่อพัฒนาระบบให้เข้มแข็งและแล้วจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลลง 60% ลดการนอนในโรงพยาบาลลง 15-20% และเป้าหมายระระยาวตั้งเป้าว่าจะช่วยลดค่าเดินทางของประชาชนไปโรงพยาบาล 1,655บาท/คน ลดค่าใช้จ่ายสุขภาพลง 25-30% และประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศลงได้ 50,000ล้านบาท/ปี
- 56 views