โวย “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่รู้จริง “รักษาฟรี-ดูแลสุขภาพ” คนละเรื่องกัน ชี้ทุกคนอยากมีสุขภาพดี ไม่มีใครอยากป่วย ขอใช้สิทธินอน รพ. ขณะที่งานวิจัยระบุชัด ประชาชนเข้ารับบริการรักษา เหตุมีความจำเป็น พร้อมเปิดตัวเลขเปรียบเทียบสวัสดิการภาระประเทศ ข้าราชการใช้งบสูงกว่าประชาชนนับแสนล้าน ดูแล ขรก.และครอบครัว ราว 6 ล้านคน
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ใช่ปรากฎการณ์แรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดถึงประชาชนในแง่ลบ ทั้งยังสะท้อนถึงความไม่เข้าใจต่อหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มองว่าเป็นระบบที่สร้างภาระให้กับรัฐบาล ทั้งเป็นต้นเหตุทำให้ประชาชนละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและเข้ารับบริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งที่แนวคิดดังกล่าวไม่เป็นข้อเท็จจริง ดร.ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา ล่าสุดยังได้โพส์เฟสบุ๊คระบุว่า การที่นายกรัฐมนตรีอธิบายแบบนั้น ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สุขภาพเป็นเพียงกรณีย่อยของปัญหา Moral Hazard ซึ่งมีงานวิจัยจัดทำโดย ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ติดตามครัวเรือนเดิมเป็นระยะเวลา 20 ปี จนกระทั่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนแล้วว่า การรักษาฟรีจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้ทำให้คนดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และน่าจะรวมถึงการไม่ใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพตนเองตามที่นายกรัฐมนตรีระบุ
ขณะเดียวกันในมุมมองตรงกันข้าม การที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ประชาชนที่มีแนวโน้มเจ็บป่วยได้พบแพทย์ และได้รับข้อมูลคำเตือนที่เป็นการสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมต่างๆ เพื่อลดโรคได้ เช่น ลดการสูบบุหรี่ ลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแนะนำให้ออกกำลังกาย เป็นต้น
“วันนี้แม้ว่าประชาชนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับทำให้เข้าถึงรักษาพยาบาลในยามที่เจ็บป่วยแล้ว แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นปัจจัยส่งผลให้ประชาชนลดความใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองลง เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมอยากมีสุขภาพที่ดีด้วยเหตุผลที่แตกต่างเพื่อดำเนินชีวิต เช่น การมีสุขภาพที่ดีเพื่อดูแลครอบครัวและคนที่รัก การมีสุขภาพที่ดีเพื่อให้สามารถทำตามเป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้ได้ การมีสุขภาพที่ดีเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น ดังนั้นเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนและการที่รัฐบาลมีระบบบริการรักษาฟรีให้กับประชาชนจึงเป็นคนละเรื่องกัน และเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากใช้สิทธินี้ เพื่อที่จะได้นอนป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล หรืออยากเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า “วันนี้คนมักจะเป็นโรค ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม แต่ทุกคนบอกสบาย ช่างมัน ไม่ต้องออกกำลังกาย เดี๋ยวไปรักษาฟรี” จึงเป็นคำพูดที่ไม่เข้าท่า”
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการระบุถึงการเข้ารับบริการของประชาชนว่าเกินความจำเป็นนั้น จากงานวิจัย “โครงการความจำเป็นในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจากมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์” จัดทำโดย นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว และคณะ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้ศึกษาและสัมภาษณ์ประชาชนกลุ่มตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ระบุว่ามารับบริการเนื่องจากมีความจำเป็น มีเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้นที่ไม่จำเป็น เพียงแต่ระดับความจำเป็นในมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์จะมีความแตกต่างกัน โดยผู้ป่วยจะประเมินความจำเป็นสูงกว่าแพทย์ ดังนั้นจึงควรสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นและประเมินตนเองถึงอาการที่ควรมาพบแพทย์ ซึ่งจะทำให้ข้อขัดแย้งนี้ลดลงได้ นอกจากนี้ในงานวิจัยยังได้มีการสำรวจข้อเสนอร่วมจ่าย โดยพบว่าการร่วมจ่าย ณ จุดบริการจะลดการเข้ารับบริการของกลุ่มผู้ป่วยที่มีเศรษฐานะต่ำ และจะส่งผลลดการเข้ารับบริการทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องเข้ารับบริการ
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้หากนายกรัฐมนตรีหงุดหงิดกับงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมของประชาชนนั้น อยากให้ดูในส่วนงบประมาณด้านสวัสดิการของข้าราชการบ้าง จากการสืบค้นข้อมูลโดย ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 พบว่า ในส่วนของประชาชนมีรายจ่ายงบประมาณดังนี้ 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลรักษาประชาชน 49 ล้านคน งบประมาณ 134,269 ล้านบาท 2.กองทุนประกันสังคม รัฐบาลสมทบเข้ากองทุนทั้งในส่วนของสุขภาพและชราภาพ ให้กับผู้ประกันตน 14.5 ล้านคน งบประมาณ 47,011 ล้านบาท และ 3.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวนราว 9 ล้านคน งบประมาณ 72,469 ล้านบาท รวมดูแลประชาชนทั้งหมดราว 53.5 ล้านคน งบประมาณราว 249,359 ล้านบาท
ส่วนของข้าราชการมีรายจ่ายงบประมาณ ดังนี้ 1.กองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ ดูแลข้าราชการและครอบครัวราว 6 ล้านคน งบประมาณ 70,000 ล้านบาท แม้ว่ากองทุนบัตรทองใช้งบประมาณมากว่า 1 เท่า แต่มีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์มากกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการถึง 8 เท่า 2.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มีผู้ได้รับประโยชน์ 1 ล้านคน ใช้งบประมาณ 54,845 ล้านบาท และ 3.เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ ที่เป็นข้าราชการบำนาญ 7 แสนคน” ใช้งบประมาณ 223,762 ล้านบาท เมื่อรวมฝั่งข้าราชการ มีผู้ได้รับประโยชน์รวมครอบครัวราว 6 ล้านคน ใช้ประมาณ 348,607 ล้านบาท มากกว่าฝั่งประชาชนเกือบ 1 แสนล้านบาท เมื่อนำงบปะมาณสวัสดิการทั้งในส่วนประชาชนและข้าราชการรวมกัน จะเท่ากับ 597,966 ล้านบาท โดยงบสวัสดิการข้าราชการจะเท่ากับ ร้อยละ 58 ของงบประมาณสวัสดิการทั้งหมด เมื่อดูจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ มีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนงบประมาณสวัสดิการของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 42 เท่านั้น ทั้งที่มีจำนวนผู้ที่ใช้บริการมากกว่าถึงเกือบ 9 เท่า ซึ่งตัวเลขนี้คงชี้ให้เห็นถึงภาระงบประมาณสวัสดิการได้เป็นอย่างดี
- 50 views