หมออนามัยย้ำ การออกอนุบัญญัติให้นักสาธารณสุขบำบัดโรคเบื้องต้นได้ตามที่ระบุใน พ.ร.บ.วิชาชีพ ไม่ได้เป็นการก้าวล่วงวิชาชีพอื่นๆแต่อย่างใด ระบุทำมาเป็นร้อยปี ยิ่งในพื้นที่ขาดแคลนบุคลากร นักสาธารณสุขก็ต้องสามารถปฏิบัติงานร่วมด้วยช่วยกันกับทุกวิชาชีพด้วย แต่บทบาทหลักของนักสาธารณสุขก็คือการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และอนามัยสิ่งแวดล้อม ชี้ตรรกะเดียวกับพยาบาลที่ต้องการจ่ายยาได้หากในพื้นที่กันดารที่ไม่มีเภสัชกร นักสาธารณสุขก็ควรที่จะสามารถบำบัดโรคเบื้องต้นได้ในพื้นที่กันดารหรือมีบุคลากรจำกัด
นายริซกี สาร๊ะ
นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวว่าในปีนี้นักสาธารณสุข กำลังมุ่งสู่การสอบใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน โดยขณะนี้กำลังเร่งรัดจัดทำอนุบัญญัติหลายฉบับมารองรับ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 อย่างไรก็ดี ยังมีอนุบัญญัติ 4 ฉบับที่มีประเด็นเรื่องการตรวจประเมินและบำบัดโรคเบื้องต้น แต่กลับถูกวิชาชีพเดิมๆ ทักท้วงในนามภาคีวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยมีหนังสือทักท้วงลงนามโดยนายกสภาพยาบาลในฐานะแกนนำภาคีฯ ว่าการบำบัดโรคเบื้องต้นดังกล่าว เป็นการก้าวล่วงวิชาชีพอื่น หรือแม้กระทั่งหน่วยงานระดับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ก็ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ว่าให้สภาการสาธารณสุขชุมชนออกกฎหมายบริหารจัดการสภาไปก่อน ส่วนอนุบัญญัติ 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตรวจประเมินและบำบัดโรคเบื้องต้นให้ทำการทบทวนใหม่
นายริซกี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนหมออนามัยขอสะท้อนว่าการทำหน้าที่ดังกล่าว หมออนามัยปฏิบัติงานนี้มาเป็นร้อยปีแล้วทั้งการรักษาเบื้องต้น เช่น ไข้ตัวร้อน โรคหวัด โรคไอกรน ฯลฯ ทำแผล ทำคลอด ฉีดยา ฉีดวัคซีน ผ่าฝี ให้น้ำเกลือ ฉีดเซรุ่ม วางแผนครอบครัว จ่ายยา เจาะเลือด ปฐมพยาบาลสารพิษ การฉีดยาคุมและจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด จะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงก็คือนักสาธารณสุขหรือหมออนามัยได้ปฏิบัติงานต่างๆ เช่นนั้นอยู่แล้ว
“เดิมหมออนามัยทำงานบริการสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชนมาตั้งแต่มีสุขศาลา จนมาเป็นสถานีอนามัย และ รพ.สต นักสาธารณสุขในอดีตสามารถปฏิบัติงานทดแทนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ในบริการระดับปฐมภูมิ เพราะใน รพ.สต. ไม่มีแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์มาประจำ และท่ามกลางข้อจำกัด นักสาธารณสุขก็ปฏิบัติงานดังกล่าวมานาน จนปัจุจุบันแม้จะมีพยาบาลลงมา รพ.สต.แล้ว แต่นักสาธารณสุขก็ยังต้องช่วยทำการบำบัดโรคเบื้องต้น เคียงคู่กับพยาบาลที่ทำการรักษาพยาบาล ในระดับปฐมภูมิไปพร้อมๆ กัน”
นายริซกี กล่าวว่า กรณีนี้ใช้ตรรกะเดียวกับข้อโต้แย้งเรื่อง พ.ร.บ.ยาระหว่างเภสัชกรและพยาบาล ที่พยาบาลบอกว่าใน รพ.สต.ที่ไม่มีเภสัชกร พยาบาลก็ยังต้องจ่ายยา ก็เป็นตรรกะเดียวกันกับนักสาธารณสุขว่าในพื้นที่ห่างไกล ทั้งเรื่องจ่ายยา การรักษาพยาบาล หมออนามัยต้องช่วยทำเช่นกัน เพียงแต่ต้องมาดูว่ามีขอบเขตอย่างไรบ้าง แต่ไม่ใช่มาค้านว่าก้าวล่วง ทั้งที่ รพ.สต.เกือบหมื่นแห่งปฏิบัติหน้าที่นี้มานานแล้ว
นายริซกี กล่าวว่า ทั้งนี้ในอดีต หมออนามัยได้ปฏิบัติงานภายใต้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 และระเบียบกระทรวงสาธารณสุขปี 2539 แต่ในปัจจุบันหมออนามัยมีกฎหมายเป็นของตัวเองแล้วคือ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข 2556 จึงนำบทบาทเดิมที่เคยทำ มาบรรจุใส่ในกฎหมายตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนด้วย เพื่อความชัดเจนในการทำงานที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้ปฏิบัติงานได้โดยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดกับผู้รับบริการและตัวบุคลากรเอง ภายใต้ระเบียบและกฏหมายที่มารองรับการปฏิบัติงานของหมออนามัยและนักสาธารณสุขมากขึ้น รวมทั้งยังคำนึงถึงประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ จากการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานตามจรรยาบรรณวิชาชีพมากขึ้นด้วย ซึ่งการบำบัดโรคเบื้องต้น ก็เป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ตามภาระงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว ภายใต้กฎหมายวิชาชีพของตนเอง
“เมื่อพิจารณาใน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ในมาตรา 3 (3) มีการใช้คำว่าบำบัดรักษาโรคเบื้องต้น แทนคำเดิมเพื่อความชัดเจนในวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน โดยสภาจะมีการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง เพราะในแนวทางปฏิบัติเดิมๆ วิชาชีพเวชกรรมเอง ก็ไม่มีเวลามาควบคุมบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างแท้จริง” นายริซกี กล่าว
- 1036 views