สถาบันมะเร็งแห่งชาติชี้การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง หลายคนกังวลผลกระทบที่มีต่อร่างกาย เช่น ผมร่วง กินไม่ได้ เบื่ออาหาร แต่แท้จริงแล้วเคมีบำบัดรักษามะเร็งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ "โรคมะเร็ง" มีอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2012 มีผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกกว่า 14.1 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งราว 8.2 ล้านคน สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง โดยในปี 2554 พบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งราว 112, 392 คน โรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ มะเร็งตับ รองลงมาเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ
ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์โดยไปทำลายเซลล์มะเร็งและยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรค หรือควบคุมโรคไม่ให้ก้อนมะเร็งโตขึ้นและไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนบรรเทาอาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอาจใช้ยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง สำหรับวิธีการให้ยามีทั้งให้โดยการรับประทาน และการฉีด
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่พบบ่อยไม่ว่าจะเป็นอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เกิดรอยฟกช้ำตามตัวได้ง่าย เลือดออกแล้วหยุดยาก ติดเชื้อได้ง่าย เกิดจากการที่ยาเคมีบำบัดทำลายเซลล์ในไขกระดูกคือเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปากเป็นแผล ท้องเสีย เกิดจากการที่ยาเคมีบำบัดทำลายเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนั้นอาจมีอาการผมร่วง ผิวคล้ำ เล็บคล้ำ เล็บเปราะ ชาตามปลายมือปลายเท้า ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกันทุกคน บางคนแพ้มากก็ไม่ได้แปลว่าโรคมะเร็งกำเริบ ขอให้คิดในแง่บวกว่ายากำลังออกฤทธิ์จัดการเซลล์มะเร็ง ต้องมีบ้างที่เซลล์ปกติจะต้องโดนไปด้วย บางคนที่ไม่ค่อยมีอาการข้างเคียง เพราะร่างกายของเราแข็งแรงอยู่เป็นทุนเดิม จึงสามารถต้านทานฤทธิ์ยาได้ ในช่วงเวลาที่กำลังได้รับยา ควรดูแลเอาใจใส่บำรุงร่างกายให้ได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ขอให้คิดให้กำลังใจตัวเองว่า ผลข้างเคียงนั้นเกิดขึ้นชั่วคราวแค่ในช่วงเวลาที่กำลังได้รับยาหรือหลังจากได้รับยาช่วงสั้นๆ เป็นส่วนใหญ่
- 10397 views