ปัญหา “เด็กข้ามชาติไร้สถานะบุคคล” เปรียบได้กับระเบิดเวลาของสังคมไทยที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกัน “ปลดชนวน”
ในแต่ละปีมีเด็กข้ามชาติจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาบนผืนแผ่นดินไทย เด็กส่วนหนึ่งได้รับการ “แจ้งเกิด” อย่างถูกต้อง ส่งผลให้มีสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ สามารถยืนยันตัวตนและการมีอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี มีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ
ทว่า ในทางตรงกันข้าม ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ “แจ้งเกิด” จากเหตุผลหลากหลาย เด็กเหล่านั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่ “ไม่มีตัวตน” และ “ไม่เคยมีอยู่จริง” ซึ่งว่ากันตามหลักการแล้ว เขาเหล่านั้นแทบจะไม่มีโอกาสแม้แต่การเป็นมนุษย์ ไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ไม่มีรัฐคอยให้การดูแลไม่ว่าจะเป็นรัฐที่เขาเกิดหรือรัฐตามสัญชาติของพ่อแม่
เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับสังคมที่ผลักให้เขา “ลงสู่ใต้ดิน” ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน อยู่ตามซอกหลืบของแผ่นดินไทย ประกอบอาชีพที่ไม่สู้จะดีนัก และที่สุดแล้วมนุษย์ด้วยกันเองอาจบีบบังคับให้เขาต้องกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมต่อไป
หนึ่งในความพยายามเพื่อ “ถอดสลักระเบิดเวลา” คือ โครงการเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็กข้ามชาติ ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิศุภนิติแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นจำนวน 1 ล้านยูโร หรือราวๆ 38 ล้านบาท
กรอบเวลา 3 ปี (พ.ศ.2559-2562) ภายใต้การสนับสนุนดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เด็กข้ามชาติได้รับ “การจดทะเบียนการเกิด” อย่างครอบคลุม โดยโครงการฯ ได้ตั้งแคมเปญรณรงค์ว่า “เด็กทุกคนต้องมีใบเกิด” หรือ Child registered, is child protected
ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลผ่านงานประชุมสัมมนานานาชาติ เรื่อง “การจดทะเบียนเกิด ประเด็นทางสุขภาพ และประเด็นทางสังคมของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2561 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนหนึ่งว่า ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ณ ธันวาคม 2558 ประเทศไทยมีประชากรแรงงานข้ามชาติรวมแล้วประมาณ 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเด็กข้ามชาติจำนวนเท่าใด
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าแต่ละปีจะมีเด็กข้ามชาติเกิดใหม่ประมาณ 4,000 ราย ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ราย ไม่ได้จดทะเบียนการเกิด เด็กเหล่านั้นจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ การศึกษา การรักษาพยาบาล ได้เลย
ดร.สราวุธ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าในปี 2551 ประเทศไทยจะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร์ ซึ่งทำให้เด็กข้ามชาติทุกคนที่เกิดในประเทศไทยสามารถจดทะเบียนเกิดได้ แต่ก็ยังมีเด็กข้ามชาติอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเกิด อาทิ บุตรของแรงงานผิดกฎหมาย เด็กที่เกิดในค่ายอพยพ ฯลฯ
สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเกรงว่าจะถูกจับกุมขณะออกไปดำเนินการแจ้งเกิดให้บุตร ขณะเดียวกันก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแจ้งเกิด มีอุปสรรคเรื่องภาษาการสื่อสาร หรือแม้แต่การถูกเจ้าหน้าที่-นายจ้าง ขัดขวางในรูปแบบต่างๆ
เพื่อคลี่คลายหรืออย่างน้อยก็ช่วยลดระดับของปัญหาลง โครงการฯ จึงได้เริ่มต้นจากการสร้างศักยภาพให้กับองค์กรภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) องค์กรชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงในองค์กรชุมชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีความเข้าใจในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ของประชากรข้ามชาติในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
จากนั้น มีการประยุกต์ใช้หลักสูตร Community Voice and Engagement: CVE หรือการสร้างการมีส่วนร่วมและเสียงของชุมชนเพื่อเป็นกระบอกเสียงของตัวเอง รวมทั้งต่อยอดให้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และเครือข่ายแนวร่วม พัฒนา และผลิตสื่อข้อความรณรงค์เพื่อให้ความรู้และสื่อสารที่ถูกต้องในเรื่องการจดทะเบียนเกิดในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือโครงการนี้จะช่วยพัฒนาและผลิตบุคลากรทีมี “องค์ความรู้” เกี่ยวกับสิทธิของแรงานงานข้ามชาติ และมีความเข้าใจเรื่องการแจ้งเกิด เพื่อช่วยให้เด็กข้ามชาติได้รับการแจ้งเกิดอย่างถ้วนหน้า
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะภาคีในการดำเนินโครงการและเจ้าภาพในการจัดสัมมนานานาชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยและพม่าตั้งอยู่ใกล้เคียงกันและมีการเคลื่อนย้ายประชากรไปมาระหว่างกันโดยตลอด จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยสร้างกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ประชากรทั้งสองประเทศ รวมถึงคนที่อยู่แนวชายแดน ให้สามารถเข้าถึงการรักษาและการศึกษาโดยเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสังคมในอนาคต
อนึ่ง โครงการฯ มีหน้างานใน 3 จังหวัดของประเทศไทย ประกอบด้วย ระนอง ชุมพร และ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยคาดว่าจะมีประชากรข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ กัมพูชา รวมแล้วกว่า 1 แสนชีวิต ได้รับผลประโยชน์
- 23 views