สธ.และ สปสช. เผยผลความร่วมมือจัดบริการประชาชน พัฒนาระบบบริหารจัดการการเงินการคลังของ รพ.ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการ 7×7 ระดับประเทศ และคณะทำงาน 5×5 ในระดับเขต ทำให้จำนวนหน่วยบริการที่ประสบปัญหาทางการเงินลดลงอย่างชัดเจน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมโครงการนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานร่วมระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำเสนอผลการจัดการสาธารณสุขของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 รับทราบแนวนโยบายการดำเนินงานด้านการเงินการคลังหน่วยบริการและบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2562 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารด้านการเงินการคลัง รวมถึงนำเสนอผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพให้เป็นที่ประจักษ์
นพ.ธเรศ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในรูปของคณะกรรมการและคณะทำงานร่วม โดยมีคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดับประเทศ (คณะกรรมการ 7×7) และคณะทำงานกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดับเขต (คณะทำงาน 5×5) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559
ทำหน้าที่เสนอแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การบริการกองทุน จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาระบบการรวบรวมข้อมูล และจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้มีสิทธิ เพื่อให้การบริหารจัดการเงินการคลังของหน่วยบริการมีประสิทธิภาพ ตามแผนปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ ผลการดำเนินงานพบว่า เกิดความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งทางด้านการจัดบริการสาธารณสุข ระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง การพัฒนาข้อมูล การพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเกิดประโยชน์แก่ผู้มารับบริการ
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2561 จากการแก้ปัญหาการเงินการคลังหน่วยบริการร่วมกัน ส่งผลให้จำนวนหน่วยบริการที่ประสบปัญหาทางการเงินลดลงอย่างชัดเจน ภาพรวมฐานะการเงินการคลัง ทุนสำรองสุทธิ เงินบำรุงคงเหลือเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพของหน่วยบริการโดยเทียบกับต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีแนวทางติดตามกำกับประสิทธิภาพหน่วยบริการทุกระดับ การได้รับจัดสรรเพิ่มงบกลางปี 2561 สำหรับบริการผู้ป่วยใน มีความร่วมมือแก้ปัญหาการทำงานในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิด และการพัฒนากลไกการจัดสรร การปรับเกลี่ยเงินในระดับเขตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการติดตามและให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลที่วิกฤติทางการเงินและลดความเสี่ยงการเงิน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพหน่วยบริการควบคู่ไปด้วยกัน
- 10 views