องค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าเราสามารถบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือหมายถึง การบริโภคเกลือแกงที่เราใช้ปรุงอาหารได้ไม่เกิน 1 ช้อนชา แต่สำหรับคนไทยแล้วบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไปถึง 2 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจว่า ปัจจุบันนี้คนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นทุกปี
จะดีหรือไม่ถ้าประชาชนทั่วไปจะมีเครื่องตรวจปริมาณเกลือในอาหาร เหมือนเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ซึ่งในต่างประเทศจะมีเครื่องตรวจปริมาณเกลือในอาหารแล้ว ส่วนประเทศไทยก็มีเครื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เหมาะสมกับอาหารของคนไทยด้วยเช่นกัน
นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์
นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการทดสอบความแม่นยำของเครื่องตรวจปริมาณเกลือในตัวอย่างอาหาร (CHEM meter) เพื่อประเมินการบริโภค เกลือในคนและการประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดการบริโภคเกลือในประชากร เป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมฯ จะเป็นผู้ออกแบบและผลิตเครื่องตรวจปริมาณเกลือในตัวอย่างอาหาร ส่วนคณะแพทยศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบความแม่นยำของเครื่องมือ
เครื่องมือดังกล่าวมีการพัฒนามาตั้แต่เมื่อปี 2560 มาแล้ว หรือประมาณ 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในอาหารของคนไทย และให้ตระหนักถึงอันตรายของการกินเค็มที่มีผลต่อสุขภาพ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไตวาย ทั้งนี้พฤติกรรมการกินของคนไทยในปัจจุบัน คือ ติดเค็มมากเกินไป
นพ.วิชช์ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดปริมาณเกลือในอาหารจะช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ในอาหาร 1 จานที่เรากำลังจะกินเข้าไปนั้นมีปริมาณเกลือเท่าใด เพราะที่ผ่านมา เราไม่เคยรู้เลยว่าในอาหร 1 จานที่เรากำลังจะกินมีปริมาณเกลืออยู่เท่าใด
การทำงานของเครื่องนี้จะใช้วัดปริมาณโซเดียมชนิด PPM/TDS meter ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาใช้วัดปริมาณโซเดียมในอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ และทำการตรวจวัดตัวอย่างอาหารจำนวน 100 ตัวอย่าง
ประกอบด้วย อาหารที่มีน้ำใส (แกงจืด) อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ และอาหารที่ปรุงด้วยมะนาวเป็นส่วนประกอบ โดยอาหารแต่ละอย่างตรวจด้วยเครื่อง 10 เครื่อง จากนั้นนำตัวอย่างอาหารทั้งหมดส่งตรวจหาปริมาณโซเดียมที่ห้องปฏิบัติการศูนย์บริการประกันคุณภาพอาหาร (FQA) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยวิธี In-house method based on AOAC (2016) 984.27 พบว่า สามารถวัดค่าความเข้มข้นของโซเดียมได้แม่นยำดี คือ วัดค่าโซเดียมได้ถูกต้องอยู่ระหว่าง ร้อยละ 78-83
วิธีใช้เครื่องทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ จุ่มปลายหัวโพรบที่มีลักษณะโลหะสีทองลงในอาหารเหลว กดปุ่มเปิดเรื่องค้างๆ ไว้เมื่อต้องการวัดค่า เพียงเท่านี้จะมีการแสดงผลที่หน้าจอและลักษณะการแสดงใบหน้า
ส่วนข้อจำกัดของเครื่องวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร คือ ไม่สามารถตรวจปริมาณเกลือในอาหารแห้งได้ อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิและมะนาวจะไม่เสถียร ไม่ควรวัดในอาหารร้อน ต้องวัด ณ อุณภูมิห้องเท่านั้น ถ้าจะทำในเชิงพาณิชย์จะต้องมีการพัฒนารูปแบบการใช้งานให้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ
นพ.วิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องตรวจวัดปริมาณเกลือในต่างประเทศมีจำหน่ายในราคาหลักพัน แต่ไม่เหมาะสมที่จะตรวจวัดหาปริมาณโซเดียมในอาหารบ้านเรา ส่วนเครื่องมือที่พัฒนาโดยคนไทยตอนนี้ราคาเบื้องต้นอยู่ที่เครื่องละ 500 บาท ซึ่งยังถือว่าเป็นราคาที่สูงอยู่สำหรับคนไทย และยังไม่มีการผลิตออกมาจำหน่าย ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์กำลังหาพันธมิตรที่จะเข้ามาต่อยอดผลิตเครื่องดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ต่อไป
“ถ้าอยากให้มีการเครื่องมือดังกล่าวอย่างแพร่หลาย ในเบื้องต้น ทางกระทรวงสาธารณสุขควรส่งเสริมให้ รพ.สต.แต่ละแห่งมีเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียม เพื่อที่จะใช้วัดให้ผู้ป่วยด้วยว่าอาหารแต่ละชนิดจะมีโซเดียมมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจจะว่าจะเกิดความยุ่งยากในการรับประทานอาหารหรือไม่ เพราะถ้าวัดออกมาแล้วส่วนมากอาหารไทยจะมีปริมาณโซเดียมเกินมาตรฐาน จะทำให้คนกลัวและบอกว่า อะไรๆ ก็กินไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ประชาชนรู้ และจะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงได้ ต้องย้ำกันอีกทีว่า กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเป็นผู้นำในการใช้เครื่องนี้ก่อน เพื่อให้เกิดการใช้เครื่องมือดังกล่าวอย่างแพร่หลาย” นพ.วิชช์ กล่าว
เครื่องตรวจวัดปริมาณเกลือในอาหาร
- 1273 views