สวรส.เปิดเวทีนำเสนอนวัตกรรมจากผลวิจัย สู่การพัฒนาระบบสุขภาพไทย โชว์ App เช็คพัฒนาการเด็ก แบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน กุญแจ 6 ดอก สู่การใช้ยาสมเหตุผล
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเวที HSRI’S SHOW : HSRI with Medical Innovation Research ภายใต้แนวคิด “25 ปี สวรส. สู่ระบบสุขภาพไทยในอนาคต” ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัย แอปพลิเคชั่นติดตามพัฒนาการเด็ก แบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานต้นทุนต่ำ และความสำเร็จการส่งเสริมใช้ยาสมเหตุผลในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 19 ก.ค.61 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
แอปพลิเคชั่นคุณลูกเช็คพัฒนาการเด็ก
พญ.รสวันต์ อารีมิตร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการเด็กไทย (ปีที่ 2) กล่าวว่า แอปพลิเคชั่นคุณลูก พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวก และช่วยในการบันทึก ประเมิน และคัดกรองภาวะผิดปกติของการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ตลอดจนการสร้างเสริมสุขภาพเด็ก ให้มีพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม จะมีส่วนสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน พร้อมที่จะเรียนรู้ และเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
พญ.รสวันต์ อารีมิตร
“งานวิจัยเริ่มจากการพัฒนาชุดข้อมูลที่นำไปออกแบบแอปพลิเคชั่นให้มีความสมบูรณ์ โดยเก็บข้อมูลความต้องการจากทีมสหวิชาชีพ และพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ รวมทั้งการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์แอปพลิเคชั่นคุณลูก “KhunLook” ใช้ได้กับเด็กอายุ 0-18 ปี ที่สามารถดาวน์โหลดบนสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งเมื่อดาวน์โหลดมาแล้วสามารถใช้แอปพลิเคชั่นได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยในการติดตามประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก อีกทั้งสามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น ช่องปากและฟัน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การป้องกันอุบัติเหตุ และเปิดอ่านคำแนะนำล่วงหน้าในการเลี้ยงดูและดูแลสุขภาพของแต่ละวัยที่เหมาะสม ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นคุณลูกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายผลภายใต้โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูกอีกด้วย” พญ.รสวันต์ กล่าว
แบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน
ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐและเอกชน ใน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางปฏิบัติสำหรับการประเมินภาวะแทรกซ้อนที่ไตของผู้ป่วยเบาหวาน คือ การติดตามค่าไมโครแอลบูมินนูเรีย ที่ปัจจุบันต้องมีการตรวจปัสสาวะทั้งหมด 3 ครั้ง ด้วยวิธีมาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,450 บาทต่อผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง และวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ (Rapid Test) ซึ่งใช้เป็นทางเลือกในการตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรีย มีค่าใช้จ่ายราว 280 บาท แต่ในทางปฏิบัติการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะในสถานบริการปฐมภูมิหลายแห่ง พบว่า ส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจไมโครแอลบูมินนูเรียเพียงปีละ 1 ครั้ง ตามที่กำหนดไว้ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนอีก 2 ครั้ง ถ้าคนไข้จะตรวจต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจครบตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งการตรวจจากแถบจุ่มปัสสาวะมีความยุ่งยากสำหรับผู้ป่วยในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์
ผศ.ดร.สิริมา กล่าวต่อไปว่า ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่เรียกว่า “การตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง” เป็นวิธีทางสถิติ โดยการสร้างสมการประเมินค่าจากปัจจัยเสี่ยงในประวัติคนไข้จาก 9 ตัวแปร ประกอบด้วย เพศ ไขมันไม่ดี น้ำตาลสะสมในเลือด ความดันโลหิตตัวบน ค่าคีอะตินิน ปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด ระยะเวลาป่วยเบาหวาน ประวัติเบาหวานของบิดาและมารดา โดยเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 1,211 ราย ผลการศึกษา พบว่า วิธีการตรวจด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 40 บาทต่อราย ซึ่งมีราคาถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ ประมาณ 7 เท่า และผลด้านความสามารถในการคัดกรองสูงกว่าการตรวจด้วยวิธีใช้แถบจุ่มปัสสาวะ
กุญแจ 6 ดอก สู่การใช้ยาสมเหตุผล
ทางด้าน ภญ.ผุสดี ปุจฉาการ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยร่วมโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า โครงการวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้บรรลุตามเป้าหมายในการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางในการนำแผนสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินการตามกุญแจ 6 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.ให้มีคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด 2.การจัดทำฉลากยา ฉลากยาเสริม และข้อมูลยาสู่ประชาชน 3.การจัดทำหรือจัดหาเครื่องมือจำเป็นเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล 4.การสร้างความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย 5.การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ และ 6.การส่งเสริมจริยธรรมในการสั่งใช้ยา
ภญ.ผุสดี ปุจฉาการ
“ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาจากความร่วมมือกับโรงพยาบาลและเครือข่าย จำนวน 213 โรงพยาบาล ทำให้ทราบถึงแนวปฏิบัติที่ดีในแต่ละด้านของการดำเนินการตามกุญแจ 6 ด้าน เช่น พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ ได้แก่ การสนับสนุนของผู้บริหาร ความร่วมมือของสหวิชาชีพ และการมีนโยบายที่ชัดเจน รวมถึงความสำคัญของการมีเครือข่าย โดยเครือข่ายที่ดำเนินการได้ดีจะมีจำนวนสมาชิกร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดความร่วมมือในหลายระดับเพื่อพัฒนาข้อมูลยาสู่ประชาชนที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ซึ่งได้พัฒนาเป็น Mobile Application “RDU รู้เรื่องยา” เพื่อเพิ่มความแตกฉานด้านสุขภาพ ฯลฯ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้แนวทางดังกล่าวกำหนดเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาที่ 15 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 การนำไปใช้เป็นเรื่องหนึ่งในมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เพื่อสร้างความปลอดภัยด้านยา เป็นต้น” ภญ.ผุสดี กล่าว
นอกจากจากนี้ ภายบูธนิทรรศการ “25 ปี สวรส. สู่ระบบสุขภาพไทยในอนาคต” ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย ยังมีการแสดงผลงานวิจัยอื่นๆ และกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการ “กล่องดำ” ไขปริศนาระบบสุขภาพโลกอนาคต จากงานวิจัยจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อวิจัยด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย “Bike Ride for 0 (zero) Risk” : สวรส.ชวนปั่นเช็คอัพความเสี่ยง กับการนำเสนอเครื่องมือทำนายความเสี่ยงโรคอัมพาตหลอดเลือดสมอง บนเว็ปไซต์ www.thaihealthrisk.com จากผลงานวิจัยผลการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ในประชากรไทยใน
จ.อุบลฯ ตลอดจนการสมัครสมาชิกคลังข้อมูลความรู้ระบบสุขภาพฟรีภายในงาน
- 253 views