องค์การอนามัยโลกจัดอันดับไทยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานจัดการสถานการณ์ปัญหาโรคไม่ติดต่อเป็นอันดับ 3 ของโลก ร่วมกับประเทศฟินแลนด์และนอร์เวย์ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เร่งดำเนินการ 6 ยุทธศาสตร์ แผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560 - 2564)
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ครั้งที่ 1/ 2561 เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการทำงานประเด็นยุทธศาสตร์ต่าง ๆ และพิจารณาการเตรียมการรับการติดตามความก้าวหน้าจากคณะทำงานด้านโรคไม่ติดต่อขององค์การสหประชาชาติ (UNIATF)
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อมาอย่างต่อเนื่อง และตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560 - 2564) โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับให้ไทยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานจัดการสถานการณ์ปัญหาโรคไม่ติดต่อเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับประเทศฟินแลนด์และนอร์เวย์ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยคณะทำงานด้านโรคไม่ติดต่อขององค์การสหประชาชาติ (UNIATF) จะมาติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อของไทย ตามข้อตกลงในปฏิญญาของสหประชาชาติว่าด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ตั้งเป้าลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคเหล่านี้ลงร้อยละ 25 ภายในปี 2568 และลดลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในวันที่ 28 - 30 สิงหาคม 2561
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง อาจเกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชากรทุกกลุ่มวัย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งรัดการดำเนินการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค เพื่อชะลอการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ ลดภาวะแทรกซ้อน ให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560 - 2564) ได้ดำเนินการตาม 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.พัฒนานโยบายสาธารณะและกฎหมายที่สนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ อาทิ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย น้ำมันและอาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันทรานส์ ยุทธศาสตร์เกลือและโซเดียม ภาษีน้ำตาล สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) การปฏิบัติตามกฎหมายบุหรี่และสุรา
2.เร่งขับเคลื่อนทางสังคมสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ
3.การพัฒนาศักยภาพชุมชน/ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ตำบลจัดการสุขภาพ สถานประกอบการปลอดโรคปลอดภัย
4.พัฒนาระบบเฝ้าระวังและการจัดการข้อมูล มีศูนย์ข้อมูลกลางเชื่อมโยงทุกระดับ ระบบเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อและปัจจัยเสี่ยงระดับองค์กรและกลุ่มประชากรเฉพาะ
5.ปฏิรูปการจัดบริการเพื่อลดเสี่ยงและควบคุมโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคและบริบทพื้นที่ เช่นคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในโรงพยาบาลทุกระดับ ทีมหมอครอบครัว
และ 6.พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างบูรณาการ
- 62 views