สำนักงานสาธารณสุขร้อยเอ็ด คว้ารางวัล United Nations Public Service Awards 2018 จากผลงาน "การป้องกันควบคุมมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ" นพ.สสจ.เผย องค์ความรู้เรื่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย “น้ำส้มสายชู”ถูกส่งต่อไปยังหลายชาติที่ยากจน
นพ.ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.ร้อยเอ็ด) กล่าวถึงการเข้ารับรางวัลองค์กรภาครัฐยอดเยี่ยมแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2561 (United Nations Public Service Awards 2018) จากผลงานเรื่อง "การป้องกันควบคุมมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ" เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2561 ณ กรุงมาราเคส ประเทศโมรอคโค ตอนหนึ่งว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นองค์ความรู้ของ ศ.กิตติคุณ พญ.คุณหญิงกอบจิตต์ ลิมปพยอม ที่นำนวัตกรรมเรื่อง “น้ำส้มสายชู” มาประกอบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีการดำเนินการใช้ใน จ.ร้อยเอ็ด โดยเริ่มต้นที่ อ.พนมไพร และมีการขยายการทำงานออกไปกว่า 30 จังหวัด
นพ.ปิติ กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเรียกว่าวิธี “VIA” ทำให้เราสามารถตรวจพบผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในระยะก่อนจะเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยวิธีตรวจหามะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันคือแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) แต่มีข้อจำกัดเรื่องต้องรอผลนานและต้องมีการนัดคนไข้หลายครั้ง ฉะนั้นในส่วนของคนไข้ที่เดินทางลำบากหรืออยู่ห่างไกลสถานพยาบาลก็จะเกิดปัญหาการตรวจไม่ต่อเนื่อง
สำหรับวิธี VIA นั้น ผู้ป่วยสามารถเดินทางมาตรวจเพียงครั้งเดียวก็สามารถทราบผลได้ทันที และในกรณีที่พบข้อสงสัยว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกก็สามารถทำการรักษาด้วยวิธี “จี้เย็น” ได้ทันทีเช่นกัน ฉะนั้นนวัตกรรมตรงนี้จะช่วยร่นระยะเวลาการตรวจลง และทำให้คนไข้เข้าถึงการบริการ สามารถรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น
นพ.ปิติ กล่าวว่า นวัตกรรมของประเทศไทยได้ขยายออกไปใช้ในหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน เช่น แอฟริกา ยูกานดา ซิมบับเว ฯลฯ โดยแพทย์จากโรงพยาบาลพนมไพรก็ได้เดินทางไปเป็นวิทยากรให้กับต่างประเทศด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับต่างประเทศ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
“วิธี VIA จะได้ผลในผู้หญิงอายุ 30-45 ปี วิธีการก็คือใช้น้ำส้มสายชูป้ายไปที่ปากมดลูกประมาณเกิน 1 นาที ในจุดที่เนื้อเยื่อมีความผิดปกติก็จะปรากฏฝ้าขาวให้เห็น เมื่อเราเห็นก็จะใช้วิธีจี้เย็นในการฆ่าเซลล์ ซึ่งใช้เวลาไม่นานและเครื่องมือก็ไม่แพง ที่สำคัญได้รับการพิสูจน์มา 18-19 ปี มาแล้วว่าได้ผลและปลอดภัย” นพ.ปิติ กล่าว
นพ.ปิติ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยน้ำส้มสายชูที่ใช้ก็เป็นน้ำส้มสายชูทั่วไป แต่ผู้ที่สามารถทำได้จำเป็นต้องมีความรู้ ผ่านการอบรม ซึ่งปัจจุบันเราใช้พยาบาลวิชาชีพทั่วทั้งจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก็จะลดภาระงานของแพทย์ได้
“ในประเทศไทยใช้นวัตกรรม VIA กันอย่างแพร่หลายเป็นรายจังหวัด ผมคิดว่าอยากให้มีการต่อยอดและขยายผล เพราะยังมีคนที่มีความเชื่อว่าต้องตรวจแบบแปปสเมียร์เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าวิธีแปปสเมียร์เป็นวิธีที่ดีได้มาตรฐาน แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นคือใช้เวลานานและต้องนัดคนไข้หลายครั้ง ดังนั้นใครที่ไม่สะดวกก็คิดว่า VIA น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า” นพ.ปิติ กล่าว
นพ.ปิติ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วองค์ความรู้เรื่อง VIA ได้รับการเผยแพร่ไปแล้ว และสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่าย เพียงแต่อาจเป็นเรื่องของความไม่เชื่อมั่น แต่ขณะนี้ได้รับรองจากที่ยูเอ็นให้รางวัลและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับโลกด้วย
อนึ่ง ผลงาน “การป้องกันควบคุมมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ” หรือ "Integrated approach of comprehensive cervical cancer control" เป็นการแก้ไขปัญหาสตรีเข้าไม่ถึงการบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากต้องนัดหลายครั้งและดำเนินการตรวจหลายขั้นตอน ทาง สสจ.ร้อยเอ็ด จึงร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์กรเจไปโก้ (Jhpiego) ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมอนามัย ในการป้องกันควบคุมมะเร็งปากมดลูกที่ครอบคลุมทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกัน การตรวจด้วยน้ำส้มสายชู และการรักษาด้วยการจี้เย็น
ทั้งนี้ รางวัล United Nations Public Service Awards ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2002 โดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) มีจุดประสงค์ที่สำคัญคือการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการบริการภาครัฐ กระตุ้นให้ข้าราชการ เพิ่มความเป็นมืออาชีพ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งเป็นการรวบรวมและเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป
- 451 views