เปิด “ร่างข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้าน” เขตสุขภาพที่ 7 ปรับระบบบัตรทองครอบคลุมกลุ่มคนไร้บ้าน-คนไทยไม่มีบัตรประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงการรักษาได้ เสนอจัดสรรงบดูแล ลดภาระค่าใช้จ่าย รพ. พัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูล พร้อมจัดแนวทางเบิกจ่ายและบริการจำเพาะสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน อาทิ สนับสนุนค่าเดินทาง การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิกรุก และการจัดให้มีผู้ประสานงานเพื่อติดตามดูแลต่อเนื่อง
ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนนามกุล
ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนนามกุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะคณะทำงาน (ร่าง) ข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยแก่นสารสิน) กล่าวว่า การจัดทำร่างข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านฯ เริ่มต้นจาก สปสข.เขต 7 ขอนแก่น ได้จัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไร้บ้านเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกนำเสนอ จึงได้ประสานให้ร่วมเป็นคณะทำงานตั้งต้นในการรับฟัง รวบรวมความเห็น และจัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงบริการได้
ทั้งนี้คนไร้บ้านเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีที่อยู่และพื้นเพไม่เอื้อต่อความเป็นอยู่ปกติเหมือนคนทั่วไป ดังนั้นในเรื่องสุขภาพไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจทั้งในและต่างประเทศ จะพบปัญหาสุขภาพที่แย่กว่าคนทั่วไปในหลายมิติ ทั้งการเจ็บป่วย โรคเรื้อรังและอายุขัยที่สั้นกว่าคนทั่วไป รวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีบัตรประชาชน หลายคนเคยมีบัตรประชาชนแล้วหาย ไม่ต่ออายุบัตร และมีทั้งที่ไม่เคยมีบัตรประชาชนมาก่อนเลย ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งที่จากที่ได้สัมผัสพูดคยคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นคนต่างชาติ และมีอยู่จำนวนไม่น้อย จากที่เคยทำสำรวจกลุ่มคนไร้บ้าน เฉพาะในเทศบาลนครขอนแก่นมีประมาณกว่าร้อยคน
“ที่ผ่านมาได้มีความพยายามคืนสิทธิความเป็นคนไทยให้กับคนกลุ่มนี้ จากที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คนไร้บ้านบางคนที่เคยมีบัตรประชาชนและอยากทำบัตร เราก็จะช่วยเหลือพาไปทำ โดยประสานเจ้าหน้าที่เพื่อค้นข้อมูลเดิมในฐานะทะเบียนราษฎร์และยืนยันตัวตนให้ ทำให้ได้สามารถทำบัตรประชาชนได้ แต่บางคนที่ไม่มีหลักฐานใดๆ เลย เป็นเรื่องยาก ทั้งยังมีขั้นตอนพิสูจน์สิทธิที่ยุ่งยาก เพราะต้องตามหาญาติพิสูจน์ตรวจดีเอ็นเอ ทำให้คนเหล่านี้จึงยังคงไม่มีบัตรประชาชนและเสียสิทธิต่างๆ ตามสวัสดิการรัฐที่ควรได้รับ”
อย่างไรก็ตามในกรณีที่จำเป็นต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยในกลุ่มที่ยังพิสูจน์สถานะไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาจากที่ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ อย่าง โรงพยาบาลขอนแก่นจะให้การดูแลคนเหล่านี้ค่อนข้างดี โดยให้การรักษาพยาบาลก่อนและมีนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแล ซึ่งกรณีที่ไม่มีเงินค่ารักษาโรงพยาบาลจะไม่เรียกเก็บ แต่ปัญหาคือหากโรงพยาบาลต้องดูแลคนกลุ่มนี้ต่อเนื่อง โดยไม่มีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน จะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ ดังนั้นจึงนำมาสู่การระดมความเห็นเพื่อร่วมหาทางออก
ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าวว่า ในการจัดทำร่างข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านนั้น คณะทำงานได้ทำรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพคนไร้บ้าน เปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและศูนย์จิตเวชในพื้นที่ เอ็นจีโอที่ทำงานกับคนไร้บ้าน เป็นต้น และได้จัดเวทีระดมความเห็น โดยได้สังเคราะห์ข้อเสนอในร่างข้อเสนอบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านเพื่อเดินหน้าในระบบบัตรทอง อาทิ สปสช.ควรจัดสรรเงินดูแลสุขภาพคนไร้บ้าน โดยมีแนวทางการเบิกจ่ายเพื่อการดูแลที่มากกว่าคนทั่วไป อย่างค่าเดินทาง เพราะคนเหล่านี้ไม่มีเงิน ค่าเดินทางจึงเป็นอุปสรรคหนึ่งต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ, การสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ไม่เพียงบริการนอกสถานที่ แต่เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับชุมชน, การจัดให้มีผู้ประสานงาน รับผิดชอบและติดตามสุขภาพคนไร้บ้าน โดยใช้แนวคิดเดียวกับการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อเสนอให้ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รุกดูแลคนไร้บ้านที่เป็นเด็กให้ครอบคลุมบริการที่จำเป็น เช่น การแจ้งเกิด การให้วัคซีน การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคทุกช่วงวัย เป็นต้น, สปสช.ควรให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็น ครอบคลุมบริการจำเป็นสำหรับคนไร้บ้านจำเพาะ อาทิ การตรวจหาเชื้อวัณโรค ไม่เพียงแต่นำไปสู่การรักษา แต่ยังเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาและการแพร่ระจายโรค, สปสช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์การส่งต่อคนไร้บ้านเป็นกรณีเดียวกับอุบัติเหตุที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องสิทธิการรักษาหรือค่าใช้จ่ายในการรักษา เนื่องจากคนไร้บ้านส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสิทธิ ไม่มีบัตรประชาชนและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ สปสช.ควรพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลการบันทึกกิจกรรมให้สามารถบันทึกกิจกรรมการรักษากลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนได้ เพื่อเป็นฐานข้อมูล ทั้งจำนวนและการบริการ เพื่อสนับสนุนนการจัดสรรงบประมาณ และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยบริการในการดูคนกลุ่มนั้
นอกจากนี้ยังให้ สปสช.ควรร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สช. ในการสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติคนในสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านที่เป็นอุปสรรคสำคัญค่อการพัฒนาเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจในการประสานการนำส่งคนไร้บ้านเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้บ้าน ศูนย์จิตเวช และสถานีตำรวจ เป็นต้น
หัวหน้ากลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า จากข้อเสนอการบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านนี้ คณะทำงานฯ จะนำเสนอต่อ สปสช.เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อเสนอบางส่วน สปสช.สามารถที่จะดำเนินการได้ทันที เช่น การพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลการบันทึกกิจกรรมของคนไร้บ้านที่เข้ารับบริการยังโรงพยาบาล แต่บางข้อเสนออาจต้องใช้เวลาและผลักดัน อย่างการจัดงบประมาณเพื่อจัดบริการสุขภาพสำหรับคนไร้บ้าน ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการจัดสรรงบประมาณรวมถึงการเบิกค่าใช้จ่ายจะต้องผูกติดกับบัตรประชาชนและเลข 13 หลัก ที่คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่มี ทั้งการพิสูจน์สิทธิยังเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก
อย่างไรก็ตามจากมติบอร์ด สปสช.เมื่อปี 2549 ในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข ได้เห็นชอบให้เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติงบระบบบัตรทองให้ครอบคลุมประชากรที่รอพิสูจน์สถานะ เป็นช่องทางที่เป็นไปได้ เพราะหากปล่อยให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่ารักษากลุ่มคนไร้บ้านเอง แนวโน้มอนาคตจะทำให้โรงพยาบาลไม่อยากดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะไม่สามารถเบิกเงินสนับสนุนได้ อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับกองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะ เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเน้นการดูแลเฉพาะชาวเขาที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบของประเทศ และกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 50-60 ปี
“หลายคนสงสัยว่าทำไมเราต้องไปช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน บางคนก็เมาเหล้า บางคนก็ติดยา ซ้ำขโมยของ ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งเป็นปัญหาสังคม แต่เมื่อเข้าไปดูต้นเหตุที่ทำให้เขาเหล่านี้กลายเป็นคนไร้บ้าน นอกจากจากปัจจัยตัวบุคคลแล้ว และมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งรายได้ การศึกษา และความเป็นอยู่ เป็นต้น สังคมจึงเป็นผู้ผลิตคนไร้บ้าน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเพื่อลดช่องว่างนี้ และการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านได้รับการดูแลที่ดีขึ้นได้” ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าว
- 205 views