หัวหน้าแผนกกายภาพบำบัด รพ.อ่างทอง ระบุ สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ถึงวันละ 100-150 ราย แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องเครื่องมือเก่า บางชิ้นมีอายุกว่า 20 ปี วอน สปสช.สนับสนุนงบประมาณอัพเกรดอุปกรณ์ เพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
นายธนภณ พรมยม (ขวา)
นายธนภณ พรมยม หัวหน้าแผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลอ่างทอง จ.อ่างทอง กล่าวถึงการให้บริการงานด้านกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลอ่างทองให้สำคัญกับการให้บริการด้านกายภาพบำบัดเป็นอย่างมาก โดยจะให้บริการทั้งผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลอ่างทองมีห้องกายภาพบำบัด 1 ห้อง ขณะที่มีบุคลากรทั้งสิ้น 14 ราย แบ่งเป็นนักกายภาพบำบัด 9 ราย และพนักงานผู้ช่วย 5 ราย ในแต่ละวันสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 100-150 ราย สำหรับการจัดบริการจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเช้า จะเปิดให้บริการกับผู้ป่วยนอกจำนวน 50 ราย และช่วงบ่ายจะเปิดให้บริการกับผู้ป่วยในจำนวน 100 ราย ซึ่งโดยภาพรวมถือว่าเพียงพอต่อความต้องการ
อย่างไรก็ตาม การให้บริการยังมีอุปสรรคคือเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีสภาพเก่า มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 20 ปี อุปกรณ์หรือเครื่องมือบางชิ้นเสื่อมสภาพการใช้งาน จึงไม่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และการใช้งานแต่ละครั้งจำเป็นต้องหยุดพักเครื่อง ซึ่งส่งผลต่อการให้บริการผู้ป่วยโดยเฉพาะระยะเวลาการรอคอยที่นานขึ้น
“ด้วยงบประมาณของโรงพยาบาลมีจำกัด การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่จึงเป็นไปได้ยาก จึงอยากให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องมือใหม่ให้มีความทันสมัย รองรับการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” นายธนภณ กล่าว
นายธนภณ กล่าวอีกว่า อุปกรณ์ที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้คือเข็มขัดฝึกเดิน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสามารถฝึกเดินได้ด้วยตนเองและช่วยลดระยะเวลาการให้บริการได้ด้วย ส่วนอุปกรณ์ที่เสนอให้ปรับเปลี่ยน อาทิ เครื่องดึงหลัง เครื่องอัลตร้าซาวด์ เป็นต้น ทั้งนี้หากอุปกรณ์ที่มีอยู่ไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนที่ดีขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานและการให้บริการที่มีคุณภาพในระยะยาวได้
สำหรับการให้บริการอื่นๆ ทางโรงพยาบาลอ่างทองได้วางแผนทำงานเชิงรุก โดยร่วมกับเทศบาลจังหวัดอ่างทอง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าหาเงินบริจาค โดยนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือ โต๊ะเตียง รวมทั้งการปรับปรุงอาคารสถานที่ศาลาเอนกประสงค์ในชุมชนทรัพย์สิน เพื่อทำเป็น “ศูนย์กายภาพบำบัดใกล้บ้านใกล้ใจ” เปิดให้บริการประชาชนในเวลาราชการ
ทั้งนี้ ศูนย์กายภาพฯ จะเปิดบริการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณวันละ30 ราย โดยวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ เพื่อให้บริการกับผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยในเขตชุมชน ได้รับการดูแลที่สะดวกสบายมากขึ้น ส่วนกรณีของผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางเข้ารับการรักษาได้ก็จะมีการจัดทีมเจ้าหน้าที่ลงเยี่ยมบ้านและให้การรักษาต่อไป
นอกจากการให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชนแล้ว นายธนภณ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้วางแผนป้องกัน ให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี เพื่อลดปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจของตนเองอย่างถูกวิธีด้วย
- 415 views