เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติห่วงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายสั่งไม่แบนสารเคมีเกษตร ๓ รายการ ส่งผลกระทบนโยบายด้านสุขภาพและทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาพึ่งตนเองเป็นหลัก ผนึกสมัชชาสุขภาพจังหวัดจัดพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากขึ้น ล่าสุด ๒๐ จังหวัดเริ่มแล้ว ด้าน “รศ.จิราพร” แถลงการณ์เสียงข้างน้อยต้านไม่ไหว ชี้กรรมการบางคนไม่แสดงจุดยืนมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่?
ตามที่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ไม่ยกเลิกการใช้และนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ๓ รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต นั้น
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ออกมา ถือว่าไม่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัย รวมถึงหลักการ “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policies : HiAP) ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงจะขับเคลื่อนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อไป โดยเฉพาะพาราควอต ที่ขณะนี้กว่า ๕๐ ประเทศไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว
“เรายังมีความหวังจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คือความตื่นตัวของสังคมและประชาชน เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ถึงปัญหาของสารเคมีเกษตรอันตราย เชื่อว่าจากนี้ไปเครือข่ายจะแข็งแรงและเติบโตมากยิ่งขึ้น”
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า สช.จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและสนับสนุนให้ ลด ละ เลิก การใช้พาราควอต รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ ผ่านสมัชชาสุขภาพจังหวัดและเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มี ‘วาระจังหวัด’ สอดคล้องกับแนวทางเกษตรและอาหารปลอดภัย อาทิ ๒๐ จังหวัดภาคอีสาน เช่น หนองบัวลำภู ยโสธร อำนาจเจริญ รวมถึงจังหวัดในภาคอื่นๆ อาทิ ฉะเชิงเทรา สตูล กำแพงเพชร เป็นต้น พร้อมผลักดันธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ซึ่งได้รับการตอบสนองจากผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างดี
“เราคงต้องหันกลับมาสู่แนวทาง การจัดการตนเอง เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายสารเคมีเกษตร เช่น รณรงค์ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ขณะที่ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเอง สุดท้ายสังคมอาจเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจ เปลี่ยนแปลงมติและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต”
สำหรับการโต้แย้งของภาคส่วนต่างๆ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประเมินว่า เป็นการให้เชิงข้อมูลและงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้าน เพื่อภาครัฐตัดสินใจบนฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพมากขึ้น
รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์
ด้าน รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า ส่วนตัวได้ลงมติให้คณะกรรมการฯ มีมาตรการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ (วอ.๔) คือยกเลิกการใช้ทั้ง ๓ รายการนี้ และขอให้นำมาตรา ๑๒ วรรค ๒ ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่ระบุว่า “การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ... กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น” มาใช้ แต่ปรากฏว่าไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีกรรมการท่านใดสละสิทธิ์ลงคะแนน
ขณะเดียวกันได้นำข้อมูลของประชาคมวิชาการและเครือข่าย ๑๔ หน่วยงาน ซึ่งสะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นพิษแก่ผู้บริโภคและเกษตรกร เกิดโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม โดยเฉพาะผลต่อเด็กและทารก ตรวจพบการตกค้างทั้งในผัก ผลไม้ สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง ๓ รายการในอีก ๒ ปีข้างหน้า โดยขณะที่ยังไม่ยกเลิกให้กรมวิชาการเกษตรจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้
“ในฐานะ กรรมการเสียงข้างน้อย ดิฉันได้ทำความเห็นประกอบความเห็นในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ รวมถึงข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้และผลกระทบต่อสุขภาพอย่างละเอียดแล้ว” รศ.จิราพร ระบุ
- 8 views