สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ร่อนหนังสือถึงผู้ตรวจฯ เขต 12 ขอให้ สธ.เร่งสางปมแต่งตั้งบุคลากรตาม ว16 ล่าช้า ตลอดจนจ่ายค่าตอบแทนครอบคลุมทุกวิชาชีพและค่าเสี่ยงภัยให้ พกส.และ ลูกจ้างชั่วคราวด้วย ด้านผู้ตรวจฯ เขต 12 รับเรื่องเตรียมเสนอกระทรวงพิจารณาต่อไป
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ได้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ นพ.เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 เพื่อติดตามความคืบหน้าการบริหารงานบุคคลชายแดนใต้ และค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การบริหารงานบุคคลในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญชายแดนใต้ที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ ให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการ ระดับชำนาญการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร. 1006/ว16 ลงวันที่ 28 ก.ค. 2558 ซึ่งผู้มีคุณสมบัติครบได้ดำเนินการส่งข้อมูลและติดตามมาเป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่งแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด
2.ขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนเดิมมีความเหลื่อมล้ำสูงและจำกัดแค่ 4 วิชาชีพเท่านั้น จึงเสนอให้จัดสรรให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพและทุกหน่วยงานในจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากเป็นเงินค่าตอบแทนในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งทางบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ได้ติดตามประเด็นนี้มา 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
3.ขอให้รัฐบาลพิจารณาการจ่ายค่าเสี่ยงภัยแก่พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างชั่วคราว โดยเฉพาะบุคลากรในสายวิชาชีพ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในบทบาทเดียวกับข้าราชการ บุคลากรที่ออกหน่วยออกพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ได้รับค่าเสี่ยงภัยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป
นายริซกี กล่าวว่า ใน 3 ประเด็นนี้มี 2 ประเด็นที่ขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา คือเรื่อง ว16 และค่าตอบแทน ซึ่งในส่วนของ ว16 คาดว่าน่าจะประกาศรายชื่อได้เร็วๆนี้ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนที่ประชุมได้นำเสนอ มาหลายๆ โมเดลเพื่อพิจารณา สุดท้ายมีมติในเบื้องต้นให้ขยายหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมบุคลากรทุกวิชาชีพที่ทำงานในระดับปฐมภูมิ มีความเสี่ยงภัยในการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ โดยทางเขตจะทำหนังสือถึงกระทรวงเพื่อพิจารณาต่อไป
ขณะที่ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าเสี่ยงภัยแก่ พกส.และ ลูกจ้างชั่วคราวนั้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรสายวิชาชีพที่ยังไม่ได้บรรจุค่อนข้างเยอะ กลุ่มเหล่านี้ทำงานเหมือนข้าราชการแต่ยังขาดโอกาสที่บรรจุแต่เสี่ยงภัยเท่าๆ กัน จึงเป็นประเด็นที่เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ช่วยเสนอต่อไปยังรัฐบาล
โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง และ พกส.ที่เป็นสายวิชาชีพที่ทำงานมานาน ทำงานเฉกเช่นเดียวกับข้าราชการ แต่ขาดโอกาสในการบรรจุ กลุ่มนี้มักทำงานที่มีความเสี่ยงภัย มีการออกพื้นที่ ออกหน่วยเคลื่อนที่ และทำงานหนักมาก จึงควรพิจารณาค่าเสี่ยงภัย ตั้งแต่ 1,000-2,500 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่กลุ่มลูกจ้าง และ พกส.ต่อไป
“ท่านผู้ตรวจฯ ก็รับทั้ง 3 ประเด็นว่าจะไปดำเนินการต่อ เราก็ไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวไปกระทรวงสาธารณสุขหรือทำเนียบรัฐบาลบ่อยๆ ถ้ายื่นในพื้นที่แล้วสามารถรับไปดำเนินการต่อคิดว่าน่าจะดีกว่า สรุปว่าวันนี้ก็พิจารณา 2 ประเด็นคือค่าตอบแทน กับ ว.16 ส่วนเรื่องค่าเสี่ยงภัยเป็นประเด็นที่เรายื่นไปเพื่อขอให้กระทรวงเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อ” นายริซกี กล่าว
- 12 views