สช.จับมือภาครัฐ จัดเวทีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เน้นประชาชนมีส่วนร่วมและเกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งเป้า 3 ปีเห็นผลเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 270 คน จาก 82 ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยน
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ” ว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศมาช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้การปฏิรูปประเทศคงต้องใช้เวลาและความอดทน ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ซึ่งพลังสำคัญที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จ คือ พลังประชาชน ต้องยึดแนวทางประชาชนเป็นหลัก และต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนผ่านการลงพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องพิสูจน์ได้จริง คือต้องทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งมันต้องค่อยเป็นค่อยไป
“การปฏิรูปที่แท้จริงคือต้องเกิดจากภายใน หากประชาชนเห็นคุณค่าในตัวเอง มีจิตวิญญาณในการปฏิรูปเกิดขึ้น แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายกฎหมายต่างๆ แต่ประชาชนก็จะไม่เปลี่ยนจิตวิญญาณด้านความคิดของตัวเอง สิ่งนี้จึงเป็นโมเดลสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ยั่งยืนได้” ดร.สุวิทย์ กล่าว
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ภาคประชาชนถือว่ามีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างมาก เพื่อนำเป้าหมายไปสู่ทิศทางที่ชัดเจน จากพันธกิจของ สช. ในการสร้างความมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สช. จึงมีหน้าที่โดยตรงในการสนับสนุน ส่งเสริม เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ โดยจะเริ่มต้นทั้งหมด 120 เวที ผ่าน 82 พื้นที่ทั่วประเทศ และการขับเคลื่อนเชิงประเด็นผ่าน 32 ภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความคิด นำทิศทางการปฏิรูปเข้าสู่ภาคประชาชน โดยจะเริ่มขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 3 ปี เน้นการนำ 3 ส่วน เข้ามากำกับ คือ วิชาการ เทคนิค และ KPI หรือตัวชี้วัด
“ปัจจุบันถึงจะมีกระแสที่กล่าวถึงการปฏิรูปอ่อนกำลังลง แต่มั่นใจว่า มันจะผ่านไปได้ เนื่องจากเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ทำจริง เครือข่ายเกิดความพร้อม ส่วนภาครัฐเองก็จะมองเห็นปัญหา เกิดการปรับตัวแก้ไขเรียนรู้ ปรับสู่ความเป็นจริง” นพ.พลเดช กล่าว
ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในอดีตการปฏิรูปติดขัดในเรื่องกฎระเบียบ ทำให้ขับเคลื่อนไปได้ยาก ทั้งนี้ การปฏิรูปที่กินได้คือการปฏิรูปที่ประชาชนเห็นประโยชน์ ต้องเริ่มต้นจากจุดที่ประชาชนสนใจก่อนนำมาสู่จุดที่ใหญ่ขึ้น การปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียว หากติดขัดอะไรก็นำโครงสร้างที่มีอยู่มาปรับใช้ แต่สิ่งสำคัญต้องเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และการที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันวันนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ทำให้เกิดการปฏิรูปจากจุดเล็กๆ ทำให้คนเห็นประโยชน์และเห็นความสำคัญ นำมาสู่การแก้ปัญหาบ้านเมือง
“การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าให้รัฐบาลทำเพียงฝ่ายเดียว จะเห็นแต่โครงสร้างใหญ่ จะไม่เห็นปัญหาที่หลากหลาย การขับเคลื่อนการปฏิรูปสังคมควรยึดตามหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ตรัสไว้ว่า ‘ภูมิสังคม’ ต้องนำคำนี้มาเป็นหลักคิดว่าการขับเคลื่อนจริง เริ่มในจุดเล็กๆ ระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปในภาพรวม” ศ.วุฒิสาร กล่าว
- 17 views