ที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยเผย ได้เข้าชี้แจงและเรียกร้องคณะกรรมาธิการแก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน ให้สิทธิเยียวยากรณีบาดเจ็บจากการทำงานครอบคลุมถึงข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ ด้าน กมธ.ชี้ร่างกฎหมายผ่านหลักการวาระ 1 แล้ว ต้องรอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเพิ่มเติมก่อน
พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้าชี้แจงและเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน ให้แก้ไขมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้ระบบกองทุนเงินทดแทนครอบคลุมไปถึงข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ
พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในการเยียวยาข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐในปัจจุบัน แม้จะมีกฎหมายดูแลอยู่แล้วแต่เป็นการสงเคราะห์ที่ไม่ค่อยได้จ่าย ตัวอย่างเช่นพยาบาล เกิดอุบัติเหตุพิการหรือเสียชีวิตทุกเทศกาล แต่การดูแลกลับได้น้อยกว่าแรงงานต่างด้าวเสียอีก ดังนั้นจึงเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน ให้ครอบคลุมข้าราชการและลูกจ้างของรัฐด้วย หากมีการแก้ไขมาตรา 4 เพียงข้อเดียวก็จะทำให้คนงานทั้งประเทศได้รับสิทธิการดูแลเมื่อบาดเจ็บเสียชีวิตจากการทำงาน
พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ กล่าวอีกว่า หลังจากการชี้แจงสภาพปัญหาของพยาบาลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทางคณะกรรมาธิการฯ บางท่านยังได้แถลงว่าเพิ่มทราบเรื่องจริงในวันนี้ และบางท่านก็ให้ความเห็นว่าเมื่อทราบปัญหาที่แท้จริงแล้ว การแก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน ก็ควรแก้ให้มีความครอบคลุมเสมอภาคกัน
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนได้ผ่านหลักการในวาระที่ 1 และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ทางคณะกรรมาธิการจึงแจ้งว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้จะดำเนินการตามเดิมไปก่อน และหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเพิ่มเติมก็จะแก้ไขร่างใหม่อีกครั้ง ดังนั้นขณะนี้ทางสหภาพพยาบาลฯ และสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ จะรอมติและรอความเห็นของคณะรัฐมนตรีต่อไปว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจะแก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน ให้ครอบคลุมข้อเรียกร้องไปในคราวเดียว โดยทางคณะกรรมาธิการจะแจ้งให้ทราบในภายหลังอีกครั้ง
“สหภาพพยาบาลฯ เรียกร้องขอมาตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนถึงรัฐบาล คสช. ร้องทุกข์ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน จนถึงรัฐสภา หากยังไม่ใด้ความเป็นธรรมหรือมีเหตุผลที่ยอมรับได้ก็จะร้องเรียนทุกรัฐบาลในอนาคต เพราะพยาบาลต้องพิการหรือตายทุกเทศกาล แต่ได้รับการดูแลน้อยกว่าแรงงานต่างด้าว รวมถึงความเห็นใจต่อเพื่อนข้าราชการทุกประเภท ทีมงานลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทด้วย แค่แก้มาตรา 4 มาตราเดียว คนทำงานทุกคนทั้งประทศก็จะได้สิทธินี้” พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ กล่าว
พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ กล่าวอีกว่า การขยายกองทุนเงินทดแทนให้ครอบคลุมข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ ไม่เป็นภาระทางการเงินการคลัง เพราะจ่ายสมทบรายปีเพียง 0.2-1% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 20,000 บาท ตกคนละไม่เกิน 40 บาท/คน/ปี แต่จะได้สิทธิประโยชน์ถึงทายาท 10 ปี เมื่อพิการได้ 70% ของค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 15 ปีดีกว่าสร้างระบบการเยียวยาขึ้นมาใหม่ เพราะสำนักงานประกันสังคมมีโครงสร้างและระบบการวินิจฉัยที่มีมาตรฐานและรวดเร็วอยู่แล้ว เพียงแต่ขยายโครงสร้างและเพิ่มทรัพยากรให้เหมาะสมกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
- 35 views