หมอชูชัย กก.ปฏิรูปประเทศปาฐกถา “ศักยภาพของพยาบาล: สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน” ในการประชุมวิชาการวันพยาบาลสากลประจำปี 2561 “พยาบาลเสียงแห่งพลัง: สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน” ชี้พยาบาลไทยมีบทบาทพัฒนาและปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมายาวนาน ยกเป็นบุคลากรสุขภาพที่มีศักยภาพสูง
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กทม. ในการประชุมวิชาการวันพยาบาลสากลประจำปี 2561 “พยาบาลเสียงแห่งพลัง: สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน” Nurse: A Voice to Lead - Health is a Human Right นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อเรื่อง ศักยภาพของพยาบาล: สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน
นพ.ชูชัย กล่าวว่า วันพยาบาลสากลในปีนี้ได้กำหนดธีมหรือหัวข้อเรื่องว่า “พยาบาลเสียงแห่งพลัง: สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน” คงต้องการบอกว่า การมีสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิพื้นฐานของคนทุกคน ทั้งนี้ศักยภาพของพยาบาลไทยในอดีตที่ผ่านมา พยาบาลเป็นบุคลากรสุขภาพที่บทบาทสำคัญในการพัฒนาและปฏิรูประบบสุขภาพ ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน อย่างน้อย 5 เรื่องด้วยกัน
1.แก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหารเกือบจนหมดสิ้น
2.สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพเด็กไทย วัคซีนครอบคลุมเกือบ 100% โรคที่ป้องกันได้หายไปเกือบหมด
3.การวางแผนครอบครัว ที่มีการกระจายอำนาจในระบบสุขภาพ
4.การแก้ปัญหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ลดการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก
5.การช่วยเหลือผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องได้ที่บ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำงานได้ ผู้มีบทบาทสำคัญคือพยาบาล PD (peritoneal dialysis) จำนวน 500 ท่านจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เริ่มเมื่อปี พศ.2551 อัตราการติดเชื้อทางช่องท้องต่ำมาก ต่ำกว่าอเมริกาและญี่ปุ่น กล่าวคือทำการล้างไตทางช่องท้องที่บ้านใช้เวลานานถึง 34 เดือนจึงจะมีการติดเชื้อทางช่องท้องหนึ่งครั้ง และเป็นการติดเชื้อเล็กน้อยเพียงทานยาปฏิชีวนะก็หาย
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ตัวอย่างเหล่านี้คือศักยภาพของพยาบาลที่ร่วมกับบุคลากรสุขภาพอื่นในการปฏิรูประบบสุขภาพจากระบบบริการของรัฐไปสู่ระบบสุขภาพของชุมชน ซึ่งได้เคยอภิปรายในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ความตอนหนึ่งมีว่า “พยาบาลไทยให้การดูแลพยาบาลดีที่สุดในโลก” เป็นเพราะการบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ บริการด้วยอัธยาศัย น้ำใจอันดีงาม ของพยาบาลไทย เหล่านี้อาจอยู่ในวัฒนธรรมในสายเลือดหรือภาษาสมัยใหม่คืออยู่ในดีเอ็นเอ ความข้อนี้บันทึกอยู่ในการอภิปรายของ สปท.
“ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าศักยภาพของพยาบาลประมาณ 150,000- 170,000 คนทั่วประเทศ มองในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพแล้ว เป็นบุคลากรสุขภาพที่มีศักยภาพสูงสุดในการปฏิรูประบบสุขภาพและประเทศ เพราะสามารถเชื่อมระบบสุขภาพในครอบครัว ในชุมชนกับระบบสุขภาพด่านหน้าหรือปฐมภูมิใน รพ.สต. จนถึงระบบสุขภาพตติยภูมิในโรงพยาบาลศูนย์และโรงเรียนแพทย์”
นพ.ชูชัย กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศในฐานะวิชาชีพพยาบาลว่า มี 2 เรื่องหลักคือ
1.การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ชุมชน เป็นระบบสุขภาพเชิงรุก ไปถึง รพ.สต. ไปจนถึงชุมชน ถึงครอบครัว และเตียงผู้ป่วยในบ้าน หากปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิได้สำเร็จ ระบบสุขภาพไทยจะมีคุณภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน
2.การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ 3 กองทุนคือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำอย่างไรจึงปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำลงมา ให้คนไทยเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกันมากขึ้น
นพ.ชูชัย กล่าวว่า หากทำการปฏิรูป 2 เรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ระบบสุขภาพไทยจะเป็นแบบอย่างให้นานาประเทศมาศึกษาเรียนรู้ดูงาน เพื่อประโยชน์หรือสุขภาวะของผู้คนทั่วโลกต่อไป อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของพยาบาลสามารถไปไกลกว่าระบบสุขภาพ ในคำจำกัดความเก่าที่แคบ หากแต่มีศักยภาพไปถึง สุขภาพ หรือ สุขภาวะ ในคำจำกัดความใหม่ขององค์การอนามัยโลก หรือ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา บุคคลที่พยาบาลและคนไทยเคารพสูงสุด ได้นำพาชาติรอดมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จย่าได้ใช้เวลาไปกับการเสด็จไปดูแลคนชายขอบ คนกลุ่มน้อย คนด้อยโอกาส คนในชนบท กล่าวให้กระชับสั้นคือคนฐานรากของประเทศ กลุ่มคน 20% ยากจนที่อยู่ฐานล่างของปิรามิด คนประมาณ 15 ล้านคนของประเทศ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่พวกเขาได้รับ สร้างทุกขภาวะไม่รู้จบสิ้น ดังนั้น พยาบาลในฐานะพลเมืองจึงสามารถร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปที่ฐานล่างของประเทศ
“คุณูปการของพยาบาลท่านหนึ่ง ที่นำพาชาติรอดมาจนถึงปัจจุบัน ในอนาคตจึงเชื่อได้ว่า ศักยภาพของพยาบาล ไม่เพียงร่วมนำการปฏิรูประบบสุขภาพเท่านั้น หากแต่มีศักยภาพในการร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ขอบคุณที่ให้โอกาสมาแสดงปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสวันพยาบาลสากล วันสำคัญของพยาบาลทั่วโลก” นพ.ชูชัย กล่าว
- 22 views