เทศบาลนครเชียงใหม่ เดินหน้าเชียงใหม่สมาร์ทซิตี้ หนุนเมืองสุขภาพ Smart Health Smart City ด้วยสมุดบันทึกสุขภาพออนไลน์ Personal Health Report (PHR) และ รายงานผลภาพรวมสุขภาพประชากร ด้วย Geo-based Health Data Analytics เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เผยผลตรวจสุขภาพพบ 3 โรคยอดฮิต ไขมันในเลือดสูง, อ้วน และกระดูกพรุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากโครงการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่บูรณาการเชิงรุกให้ประชาชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ประจำปี 2561 มีการตรวจสุขภาพครอบคลุมถึง 13 รายการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่เข้ารับการตรวจประหยัดเงินกว่า 3,000 บาท มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ประจำปี 2561 ทั้งหมด 2,171 คน ในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ จำนวน 4 แขวง ได้แก่ แขวงนครพิงค์ แขวงเม็งราย แขวงกาวิละ และแขวงศรีวิชัย ด้วยการตระหนักเรื่องการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพที่ดี เป็นระบบและต่อเนื่อง นำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อการวางแผนการส่งเสริมสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวเชียงใหม่ในยุคดิจิตอล

เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับ โอแคร์ (Ocare) สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

โดยให้บริการ

1.สมุดบันทึกสุขภาพออนไลน์ (PHR) ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ได้เข้าถึงผลสุขภาพของตนเองที่เข้าใจง่ายกว่า สามารถเปิดดูผลสุขภาพของตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา หรือติดตามความเสี่ยงสุขภาพรายปีได้อย่างต่อเนื่อง

2.ผลสรุปสุขภาพภาพรวมของประชากร Ocare Geo-based Health Data Analytics ที่เป็นระบบวิเคราะห์สุขภาพบน www.ocare.co.th ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำ สามารถวิเคราะห์ ได้หลายระดับ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพหลัก ที่จำแนกตามพื้นที่ ผลสุขภาพเชิงลึก ผลสุขภาพแยกตามระยะของโรค จำแนกได้ตามเพศ ชาย หญิง หรือช่วงอายุ รวมทั้งรายงานผลสุขภาพต่อเนื่องรายปี

โดยภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าสู่ระบบ ผ่าน www.ocare.co.th/gov/ เพื่อดูข้อมูลสุขภาพประชากร เพื่อเอื้อต่อการตัดสินใจ ในการส่งเสริมสุขภาพ และวางแผนนโยบายสุขภาพ อย่างตรงจุดต่อไป

จากข้อมูลสุขภาพ โครงการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่บูรณาการเชิงรุกให้ประชาชนในเขตเทศบาลที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ประจำปี 2561 พบว่า ประชาชนที่เข้ารับการตรวจทั้งหมดจำนวน 2,171 คน ช่วงอายุ 35-90 ระหว่าง เป็นเพศชาย 586 คน เพศหญิง 1,585 คน ประชาชนที่สุขภาพดี ไม่พบความผิดปกติมีทั้งหมด 17 คน คิดเป็น 0.78% พบว่า โรคยอดอิต 3 อันดับแรก ได้แก่

1.ภาวะไขมันในเลือดสูง (คอลเลสเตอรอล หรือ ไตรกลีเซอไรด์ หรือ ไขมันเลวสูงกว่าค่ามาตรฐาน) จำนวน 1,183 คน (คิดเป็น 54.5%)

2.ภาวะอ้วน (BMI มากกว่า 25) จำนวน 887 คน (คิดเป็น 40.86 %)

3.ภาวะกระดูกพรุน จำนวน 874 คน (คิดเป็น 40.26%)

โดยตำบลวัตเกตุ มีภาวะอ้วน มีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะเบาหวาน เป็นอันดับ 1 ตำบลหายยา มีภาวะสุขภาพมีภาวะโรคไขมันโลหิตสูง สูงเป็นอันดับ 1

Ocare Health Data Analytics เป็นประโยชน์ เนื่องจากเกิดการวิเคราะห์ที่แม่นยำ สามารถติดตามผลภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง มี KPI (ตัวชี้วัด) ในการวัดผลสุขภาพโดยรวมได้ชัดเจน

การที่เทศบาลนครเชียงใหม่นำร่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเป็นการดำเนินงานตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเชิงรุก ที่สามารถวัดผลได้ของประเทศไทย

ทั้งนี้ เชียงใหม่เมือง Smart Health Smart City เป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองภายใต้กรอบความคิดที่มุ่งให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้เป้าหมายที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน เช่น ต้องการให้เป็นเมืองที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เมืองสำหรับผู้สูงอายุ มีสุขพลานามัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ สะดวก สะอาด ปลอดภัย รองรับสังคมในอนาคต

หลังจากที่โครงการนี้เสร็จสิ้น โอแคร์เตรียมขยายโครงการ นำไปพัฒนาต่อไปในเขตพื้นที่เมืองหลัก เมืองรองอื่นๆ รวมถึงกลุ่มธุรกิจองค์กรต่อไป