การแพทย์แผนจีน หมายถึง การแพทย์แผนโบราณของชาวฮั่นซึ่งเป็นการแพทย์ที่มีประวัติศาสตร์การรักษาในชาวจีนยาวนานมากว่า 5,000 ปี โดยมีองค์ประกอบหลักคือ การวินิจฉัยหรือการบอกโรค การรักษาด้วยการฝังเข็ม การใช้ยาสมุนไพร การนวดทุยนา ชี่กง และอาหารที่เป็นยา การแพทย์แผนโบราณจีนกําเนิดขึ้นโดยชนเผ่าที่อาศัยบริเวณแถบแม่น้ำเหลืองของจีน มีการคิดค้นทฤษฏีและพัฒนาเพิ่มขึ้นในแต่ละยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง จนเกิดแพทย์จีนที่มีชื่อเสียงจํานวนมาก และเกิดสํานักแพทย์และตําราแพทยศาสตร์ที่สําคัญจํานวนมากมาย

กล่าวกันว่าสมัยราชวงศ์อินซัง ประมาณ 3,000 กว่าปีก่อน เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและโรค 10 กว่าชนิด มาในราชวงศ์โจวก็เริ่มมีการใช้วิธีการตรวจวินิจฉัย 4 อย่างคือ ดู ฟัง ถามและแมะ โดยมีวิธีการรักษาโรคแบบต่างๆ เช่น การจ่ายยา การฝังเข็มและการผ่าตัด เป็นต้น ต่อมาในยุคสมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่นได้มีการประพันธ์ตําราชื่อ “หวาง ตี้ เน่ย จิง” (300 – 500 ปี ก่อน คศ.) ซึ่งถือเป็นตําราแพทย์แผนโบราณจีนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การแพทย์แผนจีนได้แพร่หลายออกไปยังดินแดนอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะประเทศไทย การแพทย์แผนจีนได้เข้ามามีอิทธิพลในด้านการรักษาเยียวยาคนไทยมายาวนาน

การแพทย์แผนจีนในไทย

การแพทย์แผนจีนศาสตร์การแพทย์ที่พัฒนามาจากประสบการณ์การรักษาหรือการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ของชาวจีนที่สะสมกันมานานหลายพันปีนั้น ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยในการดูแลสุขภาพของคนไทยโดยเข้ามาพร้อมคนจีนที่อพยพมาในประเทศไทยตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย มีหลักฐานที่ใช้อ้างอิง ดังนี้

- ความคล้ายคลึงกันระหว่างการแพทย์ล้านนาและการแพทย์แผนไต ซึ่งเป็นการแพทย์พื้นบ้านของชนเผ่าไตในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

- คัมภีร์โอสถพระนารายณ์ซึ่งได้รวบรวมตำรับยาที่ใช้ในวังหลวงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ 400 ปีเศษที่ผ่านมา ปรากฏมีตำรับยาจีนบรรจุอยู่ในคัมภีร์ดังกล่าว

- โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ บนถนนเยาวราช กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการการแพทย์แผนจีน ตั้งแต่ พ.ศ. 2446 จนปัจจุบันมีอายุ 114 ปี

- ห้างขายยาไต้อันตึ๊งซึ่งเป็นร้านขายยาจีนที่เปิดดำเนินการบนถนนวานิช กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ.2449 จนปัจจุบันมีอายุ 111 ปี

- สมาคมแพทย์จีนในประเทศไทยที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 จนปัจจุบันมีอายุ 98 ปี

- ได้พบหลักฐานแพทย์จีนซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาบำบัดโรคทางยา ชั้น 2เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2473

สังคมไทยก็ไม่ต่างกับสังคมอื่นทั่วโลกที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยและความเจ็บป่วยของประชาชนด้วยระบบการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงระบบเดียวได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มอาการของโรคและปัญหา แต่ต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลาย โดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่เหมาะสม เช่น การแพทย์แผนจีน ซึ่งสอดแทรกอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ ได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือการแพทย์ไทย-จีน เป็นหน่วยงานระดับกองเป็นการภายใน

มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศาสตร์การแพทย์แผนจีนให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อเป็นการแพทย์ทางเลือกในการดูแลสุขภาพของคนไทยร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยและเป็นหน่วยประสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนของกระทรวงสาธารณสุขของทั้งสองประเทศ โดยมีนายแพทย์ชวลิต สันติกิจรุ่งเรืองเป็นผู้อำนวยการคนแรก

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน วงการแพทย์จีนในประเทศไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานอันหลากหลายของแพทย์จีน ที่มีภูมิหลัง ประสบการณ์ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน การรวมตัวของสมาคมต่างๆ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างทางเลือกใหม่ให้แก่วงการแพทย์จีน มีการจัดกิจกรรมเพื่อสมาชิกและสังคมในรูปแบบต่างๆ มากมาย การรวมตัวกันจัดตั้ง “สมาคมแพทย์แผนจีนแห่งประเทศไทย” ขึ้น ยิ่งเป็นการผนึกกำลังความคิด แรงงาน และทุนทรัพย์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย

ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยสถาบันการแพทย์ไทย-จีนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ดำเนินการพัฒนามาตรฐานการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 5ขั้นตอน ได้แก่ (1) การรวบรวมข้อมูลด้านการแพทย์แผนจีน (2) การจัดการความรู้การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย (3) การกำหนดมาตรฐานการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย (4) การบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ (5) การผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนปัจจุบัน

เก็บความจาก

เภสัชกรหญิงเย็นจิตร เตชะดำรงสิน.(2556). หนึ่งทศวรรษการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย. ใน รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2554-2556. สำนักข้อมูลและประเมินผล กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข.น.249-253

สมาคมแพทย์แผนจีนประเทศไทย. การแพทย์แผนจีน.วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก ปีที่6 ฉบับที่ 1 มกราคม– เมษายน 2556.