เป็นที่รู้กันว่าการจัดการกับความเครียดมีผลต่อสุขภาพอย่างมาก สภาพแวดล้อมสามารถสร้างเสริมหรือลดทอนความเครียดได้ นั่นเป็นเพราะว่า สมอง ระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ และระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ มีการทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ยิ่งหากความเครียดเกิดจากเสียงดังรบกวน ความวุ่นวายสับสนในโรงพยาบาลไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวล เศร้า เคว้งคว้าง แต่ยังส่งผลให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เกิดความเครียดในกล้ามเนื้อ ยิ่งไปกว่านั้นร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนที่จะไปยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำให้การรักษาพยาบาลได้ผลช้าลง ความเครียดจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทางการแพทย์จะต้องพิจารณาประกอบการรักษา

ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถลดความเครียดได้ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งรัดผลการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมให้ลดความเครียด

- เพิ่มส่วนที่ติดต่อกับธรรมชาติให้มากขึ้น หลักฐานจากงานค้นคว้าวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่าการที่ผู้ป่วยได้สัมผัสกับธรรมชาติภายในเวลา 3-5 นาที จะสามารถลดความเครียดลงได้อย่างเห็นได้ชัด มีผลต่ออารมณ์ ลดความโกรธ ความหวาดกลัว และเพิ่มความสดชื่นสบายใจ ซึ่งเราสามารถจัดเตรียมพื้นที่ห้องที่สามารถมองออกไปสู่ภายนอก การจัดสวนหรือประดับต้นไม้ในอาคาร หรือแม้กระทั่งภาพถ่ายหรืองานศิลปะที่เกี่ยวกับธรรมชาติ

- เสนอทางเลือกให้กับผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกถึงการได้เป็นผู้เลือก-กำหนด-ควบคุม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยลดความเครียดลงได้ เช่น ผู้ป่วยสามารถที่จะปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในห้องเองได้ ปรับแสงได้ เลือกเปิดเพลงฟังได้ เลือกที่นั่งเองได้ หรือแม้กระทั่งสามารถเลือกกำหนดเวลาการรับประทานอาหารของตัวเองได้ และยิ่งไปกว่านั้น ป้ายหรือสัญญลักษณ์บอกทางที่ดี จะทำให้ผู้ป่วยรวมทั้งผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล มีความรู้สึกคล่องตัวในการติดต่อ ไม่หลงทาง ไม่สับสน ก็จะทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดความเครียดลงได้ และรวมถึงการวางผังที่ดี ในบางโรงพยาบาลก็จะสามารถปล่อยให้ผู้ป่วยสามารถเดินเล่นในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ได้อย่างอิสระ

- ยกระดับการสนับสนุนทางสังคม (Social Support) มีหลักฐานประกอบมากมายที่ขยายผลว่าการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนสนิทส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น กรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะสุดท้ายที่ถูกจัดที่พักให้ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เพื่อนสนิท และคนในครอบครัว โดยการจัดพื้นที่ผู้เยี่ยมที่สะดวกสบาย สามารถเลือกจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในห้องพักเองได้ มีพื้นที่ให้ผู้เยี่ยมไข้สามารถอยู่ค้างคืนกับผู้ป่วยได้อย่างสะดวกสบาย เป็นต้น

- ลดความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น มลพิษจากเสียงแสงรบกวน คุณภาพอากาศ มลพิษจากเสียง เป็นเหตุทำให้เกิดความเครียด กล่าวคือ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มระดับความดันโลหิต รวมถึงลดระดับออกซิเจนในกระแสเลือด ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการรักษาพยาบาล การออกแบบระบบที่ดี จะสามารถลดเสียงรบกวนต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกผู้ป่วย เสียงดังจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ สัญญาณเตือนต่าง ๆ เสียงจากการพูดคุยกัน โดยการลดปริมาณแหล่งกำเนิดเสียงและเพิ่มวัสดุที่สามารถดูดซับเสียงได้

- บรรยากาศที่นันทนาการเพื่อเบี่ยงเบนความเครียด ในกรณีตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจในห้องไอซียู สามารถมองออกไปยังวิวธรรมชาติได้ จะมีรายงานเรื่องความกังวลและความเครียดน้อยมาก รวมถึงการเรียกหายาบรรเทาอาการปวดก็ลดลงกว่ากลุ่มคนไข้ชนิดเดียวกันในห้องที่ไม่สามารถมองเห็นวิวธรรมชาติได้ สิ่งที่เป็นเครื่องเบี่ยงเบนความเครียดได้ ได้แก่ ต้นไม้ หรือภาพต้นไม้ ดอกไม้ วิวธรรมชาติ รวมถึงตู้เลี้ยงปลาหรือภาพวิวใต้ท้องทะเล ภาพสัตว์เลี้ยงน่ารัก ภาพใบหน้าที่กำลังยิ้ม เป็นต้น

การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา

การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาคือหาวิธีลดความเครียดจากสภาพแวดล้อม มีแนวทาง ดังนี้

1.สร้างจุดเบี่ยงเบนความสนใจ

2.ติดตั้งภาพศิลปะ วิวธรรมชาติ ภาพถ่ายครอบครัว วัตถุมงคลเครื่องบูชา ต้นไม้ มาไว้ในห้องพักผู้ป่วย

3.หาเพลง เสียงดนตรี หรือเสียงสวดมนต์ เสียงคำสอนของผู้นำทางศาสนา เลือกเฉพาะที่ผู้ป่วยชอบฟัง และฟังแล้วผ่อนคลาย มาเพื่อเปิดให้ผู้ป่วยฟัง

4.กรณีที่ในห้องพักผู้ป่วยมีเครื่องเล่นแผ่นซีดีหรือดีวีดี ก็จัดหาวิดีทัศน์ที่ออกแบบสำหรับชมเพื่อการเยียวยามาเปิดให้ผู้ป่วยชม บางทีก็อาจเป็นสไลด์ภาพวิวธรรมชาติที่มีเสียงดนตรีบรรเลงประกอบ

5.สัตว์เลี้ยงก็เป็นจุดเบี่ยงเบนความสนใจที่ดี แต่ในโรงพยาบาลจะไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงมาในห้องพักผู้ป่วย ดังนั้นภาพสัตว์เลี้ยงหรือวิดีทัศน์ที่ถ่ายสัตว์เลี้ยงที่ผู้ป่วยรัก ก็สามารถนำมาฉายให้ผู้ป่วยชมได้

6.มองหาพื้นที่จัดสวนในโรงพยาบาลที่ใกล้ห้องพักผู้ป่วยมากที่สุดนำผู้ป่วยที่สามารถเดินหรือเข็นออกนอกห้องพักได้ ไปที่สวนนั้น บ่อยเท่าที่ผู้ป่วยต้องการ ในกรณีผู้ป่วยที่อยุ่ในหอผู้ป่วยวิกฤต ไม่สามารถออกจากห้องได้ หากสามารถจัดสวนเล็ก ๆ ที่ระเบียงห้องพักผู้ป่วยให้สามารถมองเห็นได้จากเตียงผู้ป่วย ก็จะส่งผลดีต่อการรักษาได้

7.ในกรณีที่ทัศนียภาพภายนอกห้องสวยงาม อากาศดี การเปิดหน้าต่างห้องพักก็จะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศให้กับผู้ป่วยได้

8.มองหาห้องจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในโรงพยาบาล เช่น ห้องออกกำลังกาย ห้องเล่นเกมส์ ห้องกิจกรรมสำหรับเด็ก ห้องสมุด ห้องนั่งเล่น ฯลฯกำจัดสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดในสภาพแวดล้อม

9.เสริมสุคนธบำบัดในสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างกลิ่นที่เอื้อต่อการเยียวยา กำจัดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ที่จะสร้างความเครียดความกังวลให้กับผู้ป่วย ศึกษาเรื่องสุคนธบำบัดเพิ่มเติม เพื่อเลือกกลิ่นที่เหมาะสมกับเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วย เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ จะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้นเป็นต้น

10.กำจัดแหล่งกำเนิดเสียงรบกวน ที่อาจก่อให้เกิดความเครียดความรำคาญของผู้ป่วย

11.ตรวจสอบปริมาณแสง ปรับความสว่างของแสงให้เหมาะสมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

12.สอบถามตารางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อว่าญาติผู้ป่วยจะสามารถจัดตารางเวลาของตนให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และจะได้ไม่พลาดในเหตุการณ์สำคัญที่ควรจะได้ร่วมรับรู้

13.กำชับเรื่องความระมัดระวังต่อผู้ป่วย และต้องให้เกียรติต่อวิชาชีพของเจ้าหน้าที่

14.ควรจะต้องมีส่วนร่วมหรือรับรู้ในการวางแผนกระบวนการรักษาและตรวจสอบความครบถ้วนของขั้นตอนตามที่ได้ร่วมวางแผนไว้มองหาช่องทางการบำบัดรักษาเพิ่มเติม

15.โรงพยาบาลบางแห่งจะมีบริการการบำบัดทางเลือกที่ช่วยเติมเต็มวิธีการรักษาของแพทย์ได้ เช่น การนวด กดจุด ฝังเข็มแก้ปวด ดนตรีบำบัด สุคนธบำบัด

16.จัดหาช่องทางเยียวยาเสริมเข้ามาในโรงพยาบาลตามความเชื่อหรือจากการแนะนำของผู้อื่น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการเลือกโภชนาการที่เหมาะสม

17.ตรวจสอบช่องทางเลือกของอาหารที่โรงพยาบาลจัดให้ รวมถึงความยืดหยุ่นของเวลารับประทานอาหารและรายการอาหาร

18.ศึกษาคุณค่าอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

19.หาความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารพร้อมกับผู้อื่นรักษาบรรยากาศให้อบอุ่นด้วยความรัก

20.ผู้เฝ้าไข้จะต้องดูแลสุขภาพกายและจิตให้ดี ควรมีอารมณ์ที่มั่นคง สงบ อบอุ่นด้วยความรักความเอื้ออาทรและห่วงใย ควรพักผ่อนให้มากเพียงพอ ฝึกฝนเทคนิคการลดความเครียดของตัวเองให้ได้อย่างฉับพลันอารมณ์ดี และยิ้มแย้มตามความเหมาะสม

21.ตระหนักถึงความเหมาะสม ความเข้มแข็งอดทน ใจสู้ ความดำรงอยู่ของสมรรถภาพทางกายของตน ความรู้สึกว่าได้เป็นผู้กำหนดควบคุม สิ่งทั้งหลายที่กล่าวมานี้ มีผลเชื่อมโยงไปถึงการมีสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้

22.ไตร่ตรองและให้ความสนใจที่ละเอียดอ่อนต่อการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ทั้งผู้เฝ้าไข้ ผู้มาเยี่ยม และเจ้าหน้าที่ จะต้องร่วมมีส่วนช่วยในการสร้างสรรค์และรักษาบรรยากาศให้อบอุ่นด้วยความรักและเอื้อต่อการเยียวยา

เก็บความจาก

โกศล จึงเสถียรทรัพย์ และโกเมธ นาควรรณกิจ. Healing Environment. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน), น.56-58,78-80.

เอกสารประกอบ