ราวปี พ.ศ. 2405 หมอมิชชันนารีคนแรกในล้านนา (นายแพทย์ชาร์ล์ส์ วูลแมน) เดินทางสำรวจดินแดนล้านนาเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนา ผ่านมายังเมืองน่านจึงได้ทำการรักษาผู้ป่วยที่น่านโดยได้รับความร่วมมือจากข้าหลวงในท้องถิ่น ต่อมาในปี 2437 จึงได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นศูนย์มิชชันนารีน่านโดยมีหน้าที่ด้านการเผยแพร่คริสต์ศาสนา การศึกษา และการแพทย์สมัยใหม่ ในสมัยนั้นเจ้าครองนครน่านคือเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
ศูนย์มิชชันนารีน่านได้มีการเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2438 โดยนายแพทย์ชามูลเอล ซี พีเพิลส์ และคณะ ได้นำเอาวิชาการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้ในการรักษาชาวบ้านโดยใช้บ้านพักเป็นสถานที่รักษาและออกไปรักษาตามหมู่บ้าน ต่อมาในปี 2457 จึงได้มีการก่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และโบสถ์คริสตจักร ปี2470 ได้สร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งใหม่คือโรงพยาบาลน่านคริสเตียนบริเวณโรงเรียนลินกัลอะแคเดมี (โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ในปัจจุบัน) จนกระทั่งปี 2499 การผ่าตัดคลอดทารกทางหน้าท้องได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงพยาบาลน่านคริสเตียน อันเป็นสิ่งยืนยันว่าการเข้ามาของหมอมิชชันนารีและการจัดตั้งโรงพยาบาลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นและการวางรากฐานการแพทย์และการสาธารณสุขแผนตะวันตกในท้องถิ่นอย่างจังหวัดน่าน
สำหรับการสาธารณสุขในจังหวัดน่าน จากหลักฐานแผ่นป้ายไม้สัก จารึกที่มีอยู่ในอาคารสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองในปัจจุบัน พบว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขแห่งแรกในจังหวัดน่านมีชื่อว่า “โอสถสภา” เป็นสถานที่ทำงานของแพทย์หลวงประจำหัวเมืองตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมโรค และรักษาพยาบาล ต่อมาปี 2475 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” และ “ที่ทำการอนามัยจังหวัดน่าน” ในเวลาต่อมา โดยมีขุนเวชช์วิศิษฎ์เป็นแพทย์หลวง ประจำจังหวัดน่านคนแรก
ต่อมา ปี พ.ศ. 2497 เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลน่านบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 7 ในขณะนั้น ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้กรมการแพทย์ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดน่านขนาด 25 เตียงขึ้นด้วยงบประมาณก่อสร้าง 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ เงินการกุศลเพื่อการศึกษาและสาธารณสุข (ก.ศ.ส.) ในจำนวนดังกล่าวให้ และทำการก่อสร้างเป็นระยะ เวลาประมาณ 1 ปีเศษจึงแล้วเสร็จทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 ประกอบด้วย อาคารทำการ 3 หลัง บ้านพัก 4 หลัง ผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดน่าน ประกอบด้วย พ.ต.นายแพทย์หลวงนิตย์ เวชชวิศิษฐ อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายแพทย์หลวงสนั่น วรเวช รองอธิบดีกรมการแพทย์ร่วมจัดหาสถานที่ก่อสร้างกับนายแพทย์ศุภชัย มโนหรทัต อนามัยจังหวัดน่านในขณะนั้น ในการดำเนินกิจการของโรงพยาบาลน่าน
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลน่านเป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเนื่องจากจังหวัดน่านอยู่ในพื้นที่ที่มีการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้พลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบเป็นจำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งการคมนาคมยังไม่สะดวกทั้งภายในจังหวัดและติดต่อกับต่างจังหวัด ทำให้โรงพยาบาลน่านต้องพัฒนาตนเองอย่างมาก ในทุกๆด้าน เพื่อให้สามารถรับกับภารกิจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จนกระทั่งการสู้รบได้สิ้นสุดลงในปี 2526 (การสู้รบอยู่ในระหว่างปี 2511 ถึง 2526) ซึ่งเป็นยุคที่นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตรเป็นผู้อำนวยการ นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะมีการพัฒนาโรงพยาบาลน่านจากการเป็นโรงพยาบาลขนาด 56 เตียง ขยายเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ 430 เตียง มีศักยภาพในการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นสถานที่สร้างสรรค์นักบริหารและนักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความสามารถ มีคุณธรรมจำนวนมากให้แก่วงการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบัน
รวมทั้งเป็นแบบอย่างของระบบสาธารณสุขหลายอย่าง เช่น การให้บริการแบบผสมผสานซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกลุ่มงานเวชกรรมสังคม งานสาธารณสุขมูลฐานเขตเมือง งานโครงการบัตรสุขภาพ ระบบโรงพยาบาล พี่เลี้ยง และระบบส่งต่อ (Referral System) ซึ่งจุดประกายของโครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขส่วนภูมิภาค (พบส.) ของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน
เก็บความจาก
นิทรรศการ “ประวัติศาสตร์การสาธารณสุขจังหวัดน่าน”. ใน นิทรรศการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย เขตสุขภาพที่ 1 และจังหวัดเชียงใหม่. โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่.
- 404 views