ทีม IT โรงพยาบาลราชบุรี พัฒนาแอปพลิเคชั่น “Hygge Medical Service” สำเร็จ หวังยกระดับบริการ แก้ปัญหาคิวยาว-แออัด ขณะที่ “เขตสุขภาพ 5” นำร่องใช้แล้ว 10 แห่ง คาดภายใน ก.ค.นี้ ครบถ้วนทุกสถานพยาบาล

นายกิตติ ลิ้มทรงธรรม หัวหน้างานไอที โรงพยาบาลราชบุรี จ.ราชบุรี ในฐานะผู้คิดค้นและพัฒนา แอปพลิเคชั่น “Hygge Medical Service” หรือฮุกกะ แอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องใช้ในเขตสุขภาพ 5 กล่าวว่า จากประสบการณ์การรอคิวเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในอดีต ทำให้คิดว่าหากนำระบบไอทีเข้ามาสนับสนุนการบริการจะช่วยทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น จึงได้แบ่งทีมสำรวจปัญหาของแต่ละโรงพยาบาล และได้คำตอบออกมาเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ Mind, Service, Med และ Queuing จากนั้นจึงได้ร่วมกับทีมงานพัฒนา “ฮุกกะแอปพลิเคชั่น” ขึ้นมา

สำหรับฮุกกะแอปพลิเคชั่นจะรองรับทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนตัว (Mind) ซึ่งในอนาคตจะสามารถใช้แอปพลิเคชั่นแทนบัตรของโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายได้ โดยภายในแอปพลิเคชั่นจะบรรจุข้อมูลการรักษาส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยเรื่องความต่อเนื่องของการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลประจำ

“ขณะนี้ตัวระบบรองรับการข้อมูลการรักษาพยาบาลได้แล้ว อยู่ระหว่างพูดคุยกับระดับโรงพยาบาลและระดับเขตว่าจะอนุญาตให้เปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นอาจจะแสดงเฉพาะชื่อ นามสกุล อายุ ข้อมูลการใช้และการแพ้ยาก่อน” นายกิตติ กล่าว

2.ข้อมูลการรับบริการ (Service) ผู้ที่ใช้งานแอปพลิเคชั่นจะสามารถเข้าไปดูข้อมูลของโรงพยาบาลในเครือข่ายได้ทุกแห่งได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานเตรียมพร้อมและรู้จักวิธีการปฏิบัติตัวก่อนเข้ารับบริการ ตัวอย่างเช่น หากผู้ที่ใช้แอปพลิเคชั่นรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่คลินิก A ตัวแอปพลิเคชั่นก็จะแจ้งเตือนนัดหมายล่วงหน้า และอธิบายให้ทราบว่าเมื่อไปคลินิก A แล้วจะต้องทำอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร

3.ยา (Med) ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยไปรับยาจากโรงพยาบาลแล้วต้องไปซื้อยารับทานเองต่อ หรือกรณีฉลากยาของผู้ป่วยเลือนลาง หรือยาหลุดออกจากซองยา แอปพลิเคชั่นก็จะแสดงข้อมูลการรับยาเดิม รวมทั้งข้อมูลและรายละเอียดยาดังกล่าว ที่สำคัญคือจะมีรูปภาพยาและลักษณะเม็ดยาแสดงให้ผู้ใช้งานตรวจสอบได้ และตัวแอปพลิเคชั่นยังสามารถแจ้งเตือนการรับประทานยาได้ด้วย

4.การเข้าคิว (Queuing) ระบบบัตรคิวของฮุกกะแอปพลิเคชั่นถูกออกแบบสำหรับโรงพยาบาลโดยเฉพาะ ขณะนี้ระบบรองรับการจองคิวออนไลน์แล้วจึงขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลว่าจะเข้าร่วมใช้งานแอปพลิเคชั่นด้วยหรือไม่ ซึ่งในกรณีของโรงพยาบาลที่แจกเฉพาะบัตรคิวกระดาษเท่านั้น ในบัตรคิวก็จะแสดง QR code เอาไว้ให้บุคคลทั่วไปสแกน ซึ่งก็จะทำให้ทราบว่าแต่ละจุดที่กำลังให้บริการอยู่นั้นถึงคิวที่เท่าใดแล้ว

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลยังสามารถเชื่อมต่อระบบในลักษณะคล้ายคลึงกับระบบของสนามบินได้ คือใช้จอมอนิเตอร์แสดงคิวของแผนกต่างๆ และติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล ซึ่งจะแก้ปัญหาผู้ป่วยกระจุกตัวเพื่อรอคิวรับการรักษาได้

“ขณะนี้ในเชิงนโยบายคือให้เขตสุขภาพที่ 5 ใช้งานแอปพลิเคชั่นทั้งหมด เริ่มเฟสแรกภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นโรงพยาบาลเรือธง ได้แก่ โรงพยาบาลราชบุรี, โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี, โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี และโรงพยาบาลนครปฐม จ.นครปฐม จากนั้นเดือน พ.ค.จะลงไปสู่โรงพยาบาลชุมชน และในเดือน มิ.ย.-ก.ค.ก็จะใช้พร้อมเพรียงกันทุกสถานพยาบาลในเขต 5” นายกิตติ กล่าว

นายกิตติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ทดลองใช้และเริ่มโชว์ระบบขึ้นมาแล้ว 10 โรงพยาบาล และรอการใช้งานอีก 23 โรงพยาบาล รวมทั้งสิ้น 33 โรงพยาบาล แต่แต่ละโรงพยาบาลก็จะมีข้อจำกัดของตัวเอง เช่น ใช้ได้บางแผนก อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ฮุกกะแอปพลิเคชั่น ได้รับรางวัลจากงานประกวดนวัตกรรมซอฟต์แวร์ ปี 2560 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น “Hygge Medical Service” ใช้ได้ฟรีๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่สถานพยาบาลอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้และนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้ได้ฟรีเช่นกัน ทั้งนี้ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://hyggemedicalservice.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีมพัฒนาระบบคิว "ฮุกกะ" ยินดีให้ รพ.ทั่วประเทศโหลดโปรแกรมใช้ฟรี แก้ปัญหา ‘คิวยาว-แออัด’

 

ยืนยันตัวตน และการพกประวัติการรักษาพยาบาลติดตัวไปด้วย

ระบบคิวแบบ Realtimeไม่ต้องรอหน้าจุดบริการ ลดความแออัด

การให้ข้อมูลการใช้ยา และการแจ้งเตือนการรับประทานยา

การให้ข้อมูลที่สำคัญในการรับบริการ และการแจ้งเตือนการรับบริการ