มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภูเก็ต เสนอภาครัฐจัดระบบหนุนการทำงาน อสต. ช่วยสร้างความยั่งยืน รุกดูแลแรงงานข้ามชาติ เผยผลดำเนินงานช่วยคนข้ามชาติเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่ม พร้อมระบุทุกหน่วยงานต้องร่วมผลักดัน
น.ส.กันตินันท์ เกษพิทักษ์นันท์ เจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินผลโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือและดูแลพี่น้องแรงงานข้ามชาติด้วยกัน ซึ่งในด้านการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขคนกลุ่มนี้มีปัญหาการเข้าถึง รวมทั้งขาดความรู้ในการดูแลตนเอง ดังนั้น อสต.จึงเป็นมีบทบาทในการดูแลให้คนเหล่านถึงเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เบื้องต้นในการสร้างเครือข่าย อสต. มูลนิธิศุภนิมิตฯ จากที่ดำเนินโครงการเพื่อยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้มีการคัดเลือกแรงงานข้ามชาติเพื่อร่วมเป็นอาสาสมัครในการค้นหาและติดตามผู้ที่มีอาการสงสัย และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ในเกี่ยวกับโรคและการคัดกรอง ซึ่งต่อมาในระยะหลังจึงได้มีการขยายคัดกรองไปยังโรคอื่นๆ มากขึ้น
จากการทำงานการสร้างเครือข่าย อสต.มาประมาณ 5-6 ปี ยอมรับว่า อสต.มีการพัฒนาไปมากขึ้น ทั้งในด้านความรู้และกระบวนการทำงาน สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้เอง ซึ่งจากเดิมที่ไม่รู้อะไรเลย และในการนำส่งผู้ป่วยเพื่อรับการรักษายังเป็นการประสานส่งผ่านมูลนิธิศุภนิมิตฯ สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจต่อระบบในการรับบริการสุขภาพแล้ว ยังชี้ถึงการให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพคนในชุมชนด้วยกัน
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการทำงาน อสต.นอกจากมีอุปสรรคของภาษาการสื่อสารแล้ว เนื่องจากมีบางคนพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ บางครั้งจึงต้องใช้พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) มาช่วยเป็นล่ามในการแปลภาษาเพื่อให้เกิดทำงานร่วมกันแล้ว ยังมีข้อจำกัดจากการย้ายถิ่นและกลับประเทศ ทำให้การทำงาน อสต.ขาดความต่อเนื่อง โดยแรงงานข้ามชาติที่ จ.ภูเก็ตจะมีความเป็นชุมชนน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างเช่น จ.ระนอง สมุทรสาคร เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อมุ่งหารายได้ จึงมีการเคลื่อนย้ายและกลับประเทศบ่อย ทำให้ อสต.ที่นี่มีอายุการทำงานเพียง 4-5 ปี เท่านั้น ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่มี อสต.บางคนทำงานมาเป็น 10 ปี ดังนั้นที่ผ่านมาจึงต้องมีการคัดเลือก อสต.ใหม่เพื่อมาอบรมและทำหน้าที่ทดแทน
น.ส.กันตินันท์ กล่าวว่า สำหรับในการสนับสนุนการทำงานของ อสต.ที่ผ่านมาเป็นการดำเนินงานโดยมูลนิธิศุภนิมิต โดยในส่วนของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ล่าสุดได้มีการจัดทำบัตรประจำตัว อสต.ให้ เพื่อให้เข้าทำงานในพื้นที่ได้สะดวก แต่ในส่วนของงบประมาณยังไม่มีการสนับสนุน ซึ่งมองว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับ อสต. เหมือนกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพราะเป็นกลไกที่ช่วยควบคุมปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับ อสต. ที่ได้เสียสละทำงานจิตอาสาโดยไม่มีค่าตอบแทน
“ปัญหาของ อสต.ที่นี่ ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติในจังหวัดภูเก็ตเป็นแรงงานมาเพื่อทำงานมากกว่ามาใช้ชีวิตชุมชน เลยจะมีการเคลื่อนย้ายสูงมาก ทำให้งาน อสต.ขาดความต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ภาครัฐควรมีการจัดระบบสนับสนุน เพื่อให้มี อสต.ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องได้”
น.ส.กันตินันท์ กล่าวว่า หากถามว่า อสต.เป็นที่ยอมรับหรือไม่ สำหรับในพื้นที่คงเป็นที่ยอมรับ แต่ภาพรวมประเทศคงยังไม่ใช่ เพราะด้วย อสต.เป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ใช่คนไทย ดังนั้นแม้ว่าเราจะรับรู้ว่ามี อสต.ที่ทำหน้าที่คล้ายกับ อสม. แต่กลับไม่มีการจัดระบบรองรับการทำงานของ อสต.ที่ชัดเจน หากถามว่า อสต.มีความสำคัญหรือไม่ต่องานสุขภาพในพื้นที่ คงตอบว่าใช่ เพราะตราบใดที่เรายังมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ก็ควรมีกลไกที่ช่วยให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมโรคในประเทศไทยเอง
“อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญ หากมูลนิธิศุภนิมิตฯ หมดโครงการแล้วก็อยากให้เครือข่าย อสต.ดำเนินการต่อได้ ให้ อสต.ยังคงทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งไม่แต่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน แต่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันสนับสนุน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน” น.ส.กันตินันท์ กล่าว
- 26 views