กรมควบคุมโรค เผยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่มีปัญหาการกระจายในบางพื้นที่ หน่วยบริการใดมีวัคซีนไม่เพียงพอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมเตรียมดำเนินการตามคำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลก ฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังแทนกล้ามเนื้อ เพื่อลดปริมาณการใช้วัคซีน พร้อมชี้แจงบุคลากรรับทราบเร็วๆ นี้ เพื่อลดความสับสนและความกังวลที่อาจเกิดขึ้น
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานข่าวเรื่องความกังวลความขาดแคลนของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้น ทางกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว พบว่าปัจจุบันในภาพรวมทั้งประเทศถือว่าปริมาณวัคซีนที่มีใช้ในหน่วยบริการยังมีเพียงพอสัมพันธ์สถานการณ์โรค สถานการณ์ผู้สัมผัสโรคที่เข้ารับบริการ แต่มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่มีปัญหาการกระจายของวัคซีน
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนและจัดระบบการกระจายวัคซีนในพื้นที่ที่ขาดแคลน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติให้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีระบบเขตสุขภาพรองรับในการควบคุมกำกับและบริหารจัดการเรื่องการกระจายวัคซีนใช้ภายในเขตอย่างเพียงพอ ส่วนหน่วยบริการในพื้นที่ กทม.นั้นได้มีการประสานงานกับ สำนักอนามัย กทม. อย่างใกล้ชิด และจะได้มีการประชุมหารือกันเพื่อประเมินสถานการณ์
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกันหารือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อเตรียมการจัดหาเพิ่มเติม และการกระจายวัคซีนให้กับผู้รับบริการทั้งหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก (WHO) ล่าสุด คือเปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) มาเป็นฉีดเข้าผิวหนัง (ID) นั้น เป็นข้อแนะนำเพื่อจะช่วยลดปริมาณการใช้วัคซีนลง เรื่องดังกล่าวได้เสนอให้คณะกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พิจารณาเรื่องนี้แล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งกับแนวปฏิบัติใหม่ขององค์การอนามัยโลกแต่อย่างใด หากแต่ยังมีข้อกังวลเรื่องเทคนิคการฉีดเข้าผิวหนัง และอาจมีความจำเป็นต้องปรับให้เป็นแนวทางที่ใช้ในประเทศไทย อาทิ จำนวนครั้งการฉีด การฉีดก่อนและหลังสัมผัสโรค ซึ่งต้องอาศัยผู้เชียวชาญกลั่นกรองให้ถูกต้อง ทั้งนี้ จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจนแก่บุคลากรทางการแพทย์ ในเร็วๆ นี้
ขณะนี้ ขอให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากถูกสุนัข แมวกัดหรือข่วน และมีแผลแม้เพียงเล็กน้อย ต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 10 นาที และใส่ยาโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) หลังล้างแผล เพื่อลดปริมาณเชื้อที่จะเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นรีบไป พบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปรับวัคซีนตามนัดทุกครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 109 views