รพ.วชิระภูเก็ต นำร่องติดตั้งระบบการแพทย์ฉุกเฉินยุค 4.0 เปิดตัวรถพยาบาลและสายรัดข้อมืออัจฉริยะ ย้ำหากป่วยฉุกเฉินจะมีรถพยาบาลมารับทันที
“ห้องฉุกเฉิน” หรือ Emergency room ถือเป็นประตูด่านหน้าของโรงพยาบาล ที่จะต้องรับมือกับผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งมีทั้งผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริง และฉุกเฉินไม่จริง ซึ่งมีมากกว่าครึ่ง และจะดาหน้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าแทบไม่มีเวลาหยุดพัก โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต ที่แต่ละปีต้องรับมือกับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคน ขณะที่แพทย์ฉุกเฉินมีเพียง 4 คนเท่านั้น คิดง่ายๆ คือเท่ากับ อัตรา 1 ต่อ 15,000 คน
ดังนั้นระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC (Ambulance Operation Center) จึงถูกพัฒนา และนำมาใช้ เพื่อช่วยให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินทำงานง่ายขึ้น และยังช่วยให้การสื่อสารระหว่างทีมแพทย์และผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าสมัยกับยุค 4.0
นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล
นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตกลายเป็นจังหวัดแรกที่นำระบบ AOC มาใช้แบบเต็มรูปแบบ ครบทุกฟังก์ชั่น โดยระบบนี้ คือ เจ้าหน้าที่บนรถพยาบาล สามารถปรึกษาอาการกับแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางได้ ผ่านระบบการสื่อสารด้วยภาพและเสียงแบบต่อเนื่องปัจจุบัน (real time) ซึ่งจะทำให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยแพทย์ไม่ต้องไปกับรถพยาบาล แต่จะคอยตั้งรับอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อเตรียมการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที
ปัจจุบันภูเก็ตมีโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด 4 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 7 แห่ง ตั้งเป้าว่าจากนี้ทุกโรงพยาบาลจะต้องประสานกันอย่างแน่นแฟ้น มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยแพทย์ทั่วทั้งจังหวัด รวมทั้งจะพัฒนาระบบในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางทะเลเพิ่มเติมด้วย
นพ.เลอศักดิ์ ยังแนะนำไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการนำระบบ AOC มาพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินยุค 4.0 ว่า เริ่มแรกผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าใจระบบ และเห็นความสำคัญก่อน จากนั้นผู้บริหารก็ต้องสนับสนุน เพราะถ้าเทียบงบประมาณที่ใช้ ไม่ได้มากอย่างที่คิด อยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ เนื่องจากเป็นระบบที่พัฒนาโดยคนไทย แม้ไม่ใช่ระบบที่ถูกที่สุด แต่เรียกได้ว่าคุ้มค่ามากที่สุด โดยแต่ละพื้นที่สามารถยื่นของบประมาณได้ 2 ทางคือ จากกระทรวงสาธารณสุข และจากงบประมาณจังหวัด
อย่างไรก็ตามนอกจากระบบ AOC ที่ติดตั้งบนรถพยาบาลจนกลายเป็นรถพยาบาลอัจฉริยะแล้ว ยังมีการคิดค้นเทคโนโลยีอื่นๆ ขึ้นมาสนับสนุน ภายใต้แนวคิด ให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินทำงานเชิงรุกมากขึ้น
นายกิจกมน ไมตรี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ผู้พัฒนาระบบ AOC ได้คิดค้นระบบที่ไม่ต้องรอให้มีการแจ้งเหตุ แต่มีการพัฒนาสายรัดข้อมืออัจฉริยะ หรือ A-live wristband ซึ่งสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือด ความดันโลหิต และยังเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันที่จัดเก็บประวัติข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยด้วย ทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถใช้เรียกรถพยาบาลได้อย่างทันท่วงที และสามารถรู้ตำแหน่งของผู้เรียกได้อย่างแม่นยำ ลดขั้นตอนของการซักถาม เพราะสามารถรู้ประวัติผู้ป่วยได้เลย
ดังนั้นหากเรามีการพัฒนาต่อยอดให้ดี ก็จะยกระดับการเป็นเมืองท่องเที่ยวของภูเก็ตไปอีกขั้น อย่างน้อยๆ คือทุกคนมาเที่ยวภูเก็ตแล้วต้องรู้สึกอุ่นใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ทีมปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.วชิระภูเก็ต
- 431 views