“หมอเอิ้น” แนะ 4 ภาษารัก สร้างคุณค่าคน คุณค่างานให้แพทย์-พยาบาล ใช้ความรักบันดาลความสุข
พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ
พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ หรือหมอเอิ้น จิตแพทย์นักแต่งเพลง และแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ อ.เมือง จ.เลย ขึ้นบรรยายหัวข้อ “เพิ่มคุณค่าคน คุณค่างาน ผ่านภาษารัก” ที่ทาง สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.จัดขึ้น ในเวทีการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “คุณค่า คุณภาพ คุณธรรม”ที่ศูนย์ประชุม อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 14-16 มีนาคม 2561
พญ.พิยะดา กล่าวถึงการสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มคุณค่าให้กับบุคลากรที่ทำงานทางด้านการแพทย์ว่า งานด้านการแพทย์เป็นงานที่ค่อนข้างหนัก และเหนื่อย ดังนั้นกำลังใจที่สำคัญที่สุดในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลที่ทำงานด้านนี้เพื่อให้เขาอยู่ได้นั้น คือ การเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่ ซึ่งหมอมองว่ามีงานไม่กี่ประเภท ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ ได้เท่ากับงานที่เกี่ยวกับการแพทย์ งานด้านนี้เหมือนเป็นการทำงานไปด้วย ทำบุญไปด้วยตลอดเวลา แม้งานจะมีความเหนื่อยความท้อ ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บั่นทอนกำลังใจในการทำงาน ดังนั้นหมอจึงคิดหาวิธีสร้างกำลังใจเพื่อให้บุคคลากรเหล่านี้ ทำงานด้านนี้ได้ โดยไม่เครียด ไม่ท้อ
พญ.พิยะดา กล่าวต่อว่า เทคนิคสำคัญในการสร้างกำลังใจในการทำงานนั้น คือ สุขภาพจิตของเราสำคัญที่สุด สิ่งแรกเราต้องจัดการแก้ไขปัจจัยภายในของเราก่อน ก่อนที่จะมองปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เราไม่สามารถไปควบคุมความคิดคนอื่นได้ แต่สามารถควบคุมจิตใจตนเองได้ สำหรับสิ่งที่หมอเรียนรู้ได้พัฒนามานั้นเป็นภาษารัก 4 อย่าง คือ
1.รักตัวเองให้ได้ คือการเห็นของคุณค่าของตัวเองนั้น จะทำให้สภาวะจิตมีการพักผ่อนที่สงบได้ทุกช่วงวัน เมื่อรักตัวเองเป็นเราจะรู้ว่าเรามีลมหายใจอยู่เพื่ออะไร นี่คือหัวใจสำคัญของการรักตัวเอง
2.รักคนอื่นให้ได้ คือ การรู้จักเปิดใจว่าบนโลกนี้มีคนแบบเราแค่คนเดียว ดังนั้น เราจะเอาตัวเราเป็นพื้นฐานของคนอื่นไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดอุปสรรคในการสื่อสารกับบุคคลอื่น ก่อให้กำแพงขึ้นระหว่างบุคคล 2 คน ถ้าเราไม่พยายามเข้าใจว่าคนแตกต่างกัน เราจะเปิดรับคนอื่นได้ยาก
3.รักที่จะรับฟังอย่างลึกซึ้ง การฟังคือประตูที่สำคัญของการสื่อสาร การสื่อสารจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีการยอมรับกันเกิดขึ้นระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง สิ่งที่ทำให้คนที่สนทนากันอยู่ร่วมกันได้ดีคือ ฟังแล้วไม่ตัดสินว่าใครผิดใครถูก ต้องเคารพในความต่างและพร้อมที่จะเรียนรู้ในความต่างของกันและกัน ถ้าเราคิดเช่นนี้ได้จะทำให้เราไม่ไปอยู่กับเนื้อหาของเรื่องที่พูดแต่เราจะอยู่กับความรู้สึกของผู้พูด เราจะเข้าใจว่าสิ่งที่เขากำลังสื่อนั้นแท้จริงแล้วเขาต้องการให้ช่วยอะไร
และ 4. รักที่จะสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ คือเราต้องคิดแล้วว่าเราจะสื่อสารอะไรให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างเช่น เมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาดเราควรเริ่มต้นด้วยการให้กำลังใจชื่นชมในจุดที่ดีของเขา สิ่งนี้จะหล่อหลอมตัวเขาเองว่าเขามีคุณค่าอะไรและจะนำไปสู่การพัฒนา ในเมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาดแล้ว เราควรเริ่มต้นด้วยการให้กำลังใจชื่นชมในจุดที่ดี อย่าไปโฟกัสจุดด้อยของเขา
พญ.พิยะดา กล่าวอีกว่า ภาษารักไม่ได้แสดงออกทางการสนทนาเท่านั้น การใส่ใจและให้เวลากับบุคคนรอบข้าง ก็คือภาษารักอย่างหนึ่ง เช่น การที่เรานึกถึงเขาไม่ว่าเวลาสุขหรือทุกข์จะทำให้เขาเกิดความสำคัญและรู้สึกว่าเราคิดถึงเขาเสมอ ส่วนจุดยืนของหมอนั้น หมอต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าตนเองมีศักยภาพในด้านไหนมีจุดด้อยด้านไหนบ้าง ถ้าเราไม่รู้ เราจะพัฒนาตนเองได้อย่างไร ดังนั้นไม่ว่าหมอจะทำอะไรหมอจะมี concept ว่า “จะทำอะไรต้องมีประโยชน์” ถ้าไม่มีประโยชน์ เอาเวลาตรงนั้นไปอยู่กับครอบครัวดีกว่า ส่วนตัวของหมอ หมอต้องทำงานเป็นทีม เนื้องานที่ทำค่อนข้างรับผิดชอบเยอะ หรือจะเรียกว่างานหนักก็ว่าได้ ดังนั้นคุณค่าในงานของเรา คือเราต้องทำงานให้มีความสุข ด้วยการรู้จักรักตัวเอง แบ่งปันความรักให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน ฝึกสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์ผลที่ตามมา จะทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
“สำหรับคนที่ท้อ เมื่อต้องเจอกับคำพูดของคนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน ต้องเจอกับการสื่อสารด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรในขณะที่เราต้องการสื่อภาษารักกับเขานั้น หมออยากให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์และมันดี แม้คนอื่นจะเห็นว่ามันไม่ดีก็ตาม หมออยากให้เรามีความมั่นใจ เมื่อเจอปัญหาเช่นนี้ไม่อยากให้ด่วนสรุปว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเขาอาจมองไม่ดี เมื่อเจอปัญหาขอให้ทำตัวช้าลง อย่าพึ่งตัดสินว่าคนอื่นมีอคติกับเรา แล้วกลับมาย้อนคิดว่า ความไม่มั่นใจในการทำดีของเรานั้นเกิดจากอะไร” พญ.พิยะดา ระบุทิ้งท้าย
- 81 views