ลูกสาวโวยพ่อป่วยฉุกเฉินขอใช้สิทธิ์คุ้มครองค่ารักษา 72 ชั่วโมงจากโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ ทั้งๆ ที่ สพฉ.แจ้งผ่านการประเมิน พร้อมไล่ให้ไปยื่นเอกสารเอง
น.ส.ตะวันนา บานแย้ม ผู้เสียหายที่เข้าร้องเรียนกรณีบิดาได้รับปัญหาจากการเข้ารับบริการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เวลา 19.00 น. บิดาได้เกิดอาการปากเบี้ยว ขยับตัวไม่ได้ ที่บ้านพักในซอยลาดพร้าว 87 ตนและญาติจึงได้รีบนำส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียง และมาถึงในเวลา 20.30 น. ซึ่งแพทย์และพยาบาลได้นำตัวเข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียูทันที
จากนั้น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ได้สอบถามว่าบิดามีสิทธิ์การรักษาพยาบาลสิทธิ์ใดหรือไม่ จึงได้ตอบกลับไปว่ามีเพียงสิทธิ์บัตรทองเท่านั้น แต่ทราบมาว่ารัฐบาลมีนโยบาย “การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในกรอบเวลา 3 วัน ซึ่งตนนำบิดาส่งโรงพยาบาลภายในกรอบเวลา 4 ชั่วโมงนับตั้งแต่ทราบว่ามีอาการป่วย จึงได้สอบถามไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งยืนยันว่าบิดาของตนผ่านเกณฑ์การใช้สิทธิ์ตามนโยบายดังกล่าว
น.ส.ตะวันนา กล่าวว่า จากนั้นได้สอบถามไปยังโรงพยาบาลเพื่อขอใช้สิทธิ์ UCEP ซึ่งพยาบาลแจ้งว่าให้ติดต่อฝ่ายกฎหมายของโรงพยาบาลในวันถัดไป ซึ่งคือวันที่ 5 มีนาคม 2561 ซึ่งตนก็ได้สอบถามฝ่ายกฎหมาย แต่พบว่ามีการบันทึกเวลาที่พบอาการผิดไปจากความเป็นจริง โดยระบุเวลาพบอาการป่วยเป็น 15.30 น. ซึ่งได้ชี้แจงไปว่ามีการบันทึกผิดพลาด พร้อมกับนำพยานมายืนยันเวลาป่วยกระทั่งถึงเวลาที่นำส่งถึงมือแพทย์ และทางโรงพยาบาลก็ยินดีจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ถูกต้องให้
“เมื่อผ่านเกณฑ์ UCEP จึงได้สอบถามโรงพยาบาลเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่ต้องจัดเตรียมเพื่อให้รับการคุ้มครอง 3 วันโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่ฝ่ายกฎหมายของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ แจ้งว่าต้องให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด และโรงพยาบาลจะทำเรื่องติดต่อไปยัง สพฉ.เพื่อให้เบิกจ่ายเป็นเช็คเงินสดกลับมาให้กับผู้ป่วย และต้องใช้เวลาราว 1-2 เดือน อีกทั้งยังได้รับแจ้งว่า สิทธิ์ UCEP จะให้กับผู้ป่วยที่ไม่มีเงินจริงๆ หรือผู้ป่วยที่ถูกทิ้งไว้ แต่กรณีของบิดาเป็นอาการทางสมอง ยาบางตัวอาจไม่อยู่ในสิทธิ์ UCEP ด้วย และยังไม่ทราบว่าจะเบิกจ่ายได้เท่าไหร่ และไม่ทราบว่าจะผ่านเกณฑ์ของ สพฉ.ด้วยหรือไม่ ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า ติดต่อสอบถามไปทาง สพฉ.แล้ว และได้คำตอบว่าบิดาของตนผ่านเกณฑ์” น.ส.ตะวันนา กล่าว
น.ส.ตะวันนา กล่าวอีกว่า กระทั่งผ่านไปครบ 10 วัน แพทย์ที่ทำการรักษาเห็นว่าอาการผู้ป่วยดีขึ้นและพร้อมจะกลับบ้านแล้ว ซึ่งตนก็สอบถามเกี่ยวกับสิทธิ์ UCEP กับฝ่ายกฎหมายของโรงพยาบาลอีกครั้งว่าค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องชำระเพิ่มเติมเป็นอย่างไร และสิทธิ์ดังกล่าวครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ซึ่งญาติยินดีจะจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดราว 1.5 แสนบาท เพียงแต่ต้องการเอกสารที่โรงพยาบาลระบุว่าต้องนำไปยื่นกับ สพฉ.เพื่อให้สิทธิ์ UCEP แต่กลับได้รับคำตอบที่ดูถูกตอบกลับมา
“ฝ่ายกฎหมายของโรงพยาบาลคนเดิมบอกว่า เคสของบิดาเป็นเคสที่แก้ไข้ข้อมูล แล้วยังต้องการเรียกร้องว่าจะได้เงินคืนเท่าใด แต่ก็ชี้แจงไปว่าในช่วง 3 วันแรกหรือ 72 ชั่วโมงแรกที่รักษาอาการควรอยู่ในสิทธิ์ UCEP ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล แต่ฝ่ายกฎหมายคนเดิมกลับบอกอีกว่า ญาติหัวหมอ หากไม่พอใจให้ฟ้องร้องและไปเจอกันที่ศาล พร้อมกับปัดเอกสารที่ยื่นให้ทิ้งไป และบอกว่าญาติต้องนำเอกสารไปทำเรื่องกับ สพฉ.เพื่อรับเงินแทน แต่โรงพยาบาลก็ไม่ได้เอาเอกสารใดๆ ให้เพื่อให้ไปติดต่อกับ สพฉ.” น.ส.ตะวันนา กล่าว
นอกจากนี้ ฝ่ายกฎหมายคนเดิมบอกอีกว่า นับตั้งแต่มีโครงการนี้ โรงพยาบาลไม่เคยได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าที่พูดเช่นนี้เป็นเพราะต้องการลดความเชื่อมั่นนโยบายหรือไม่ หรือต้องการให้เห็นภาพว่านโยบายดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้จริง และยังบอกอีกว่า หากคิดว่าไม่ต้องจ่ายเงินก็ให้ไปถามคนที่บอกเองว่าไม่จ่ายเงินคืนได้หรือไม่ และจะได้เงินคืนเท่าใดก็อยู่ที่บุญและกรรม
น.ส.ตะวันนา กล่าวว่า เมื่อเรื่องราวเป็นเช่นนั้น จึงได้สอบถามกลับไปยัง สพฉ.อีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงมาว่า สพฉ.ไม่มีนโยบายให้คนไข้ หรือญาติยื่นเอกสารเอง สพฉ.จะติดต่อกับโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยตรงเท่านั้น และทราบมาว่าบันทึกข้อมูลของ สพฉ.พบว่าบิดาผ่านเกณฑ์การใช้สิทธิ์ในเบื้องต้น แต่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ไม่ได้ติดต่อส่งเอกสารเพื่อยืนยันการใช้สิทธิ์ใดๆ มาให้พิจารณาเลย
“ก็เท่ากับว่าเรายังไม่ได้สิทธิ์ UCEP ใดๆ และจากนี้ต้องรออุทธรณ์กับ สพฉ.ในการใช้สิทธิ์ไปอีก 90 วันจึงจะทราบผล ไม่เข้าใจว่าโรงพยาบาลทำไมจึงไม่ดำเนินการให้ กระทั่งถึงวันนี้ (21 มีนาคม) ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากโรงพยาบาลเกี่ยวกับเอกสารการใช้สิทธิ์ เมื่อโทรไปสอบถามฝ่ายกฎหมายก็ถูกบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ซึ่งเดือดร้อนอย่างมาก” น.ส.ตะวันนา กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สพฉ.เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียน รพ.เอกชนไม่ให้ใช้สิทธิ UCEP
- 977 views