‘ญาติคนไข้’ ใช้เวลา 2 ปี ตามเรื่องขอเคลมเงินคืนจากโรงพยาบาลเอกชน เหตุมารดาป่วยฉุกเฉินแต่ได้จ่ายเงินค่ารักษาไปก่อน สปสช.วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์พร้อมจ่ายเงินให้โรงพยาบาล 100% แต่ รพ.ไม่ยอมตั้งเรื่องเบิกเงินคืนให้คนไข้

น.ส.ไพจิตรา กตัญญูตะ ผู้ร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชน กล่าวในเวทีเสวนาสภาผู้บริโภค ประเด็น “CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนหนึ่งว่า เมื่อปี 2558 มารดาอายุ 76 ปี ล้มป่วยลงด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากนั้นก็ชัก ตาเหลือก มีของเหลวไหลออกมาทางปาก จึงรีบโทรไปสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงก็ตรวจเบื้องต้นและจะพาไปรับการรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิซึ่งตั้งอยู่ไกลมาก จึงเสนอไปว่าให้ไปส่งที่โรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ใกล้ที่สุดซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน

“นาทีนั้นเป็นนาทีชีวิต เราต้องเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด เพราะคุณแม่มีอาการชัก ตาเหลือก และมีของเหลวออกจากปากนานมากแล้ว เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็สันนิษฐานว่าเส้นเลือดฝอยในสมองแตกและมีเลือดออกในสมอง ไม่ควรเคลื่อนย้าย พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่าค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายในระยะเวลาที่คนไข้อยู่ในโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง ประมาณ 8 หมื่นบาท” น.ส.ไพจิตรา กล่าว

น.ส.ไพจิตรา กล่าวว่า เมื่อเผชิญหน้ากับความตายไม่ว่าราคาไหนก็ต้องยอม ส่วนตัวเงินจำนวน 8 หมื่นบาทถือว่าสูงมากแต่ก็ต้องยอมเพื่อให้มารดาปลอดภัย โดยแพทย์แนะนำว่าต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดสมองภายใน 72 ชั่วโมง และต้องเตรียมเงินค่าผ่าตัดประมาณ 3-5 แสนบาท ไม่รวมค่าพักฟื้น

“นาทีนั้นคงต้องขายรถขายบ้าน คือต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่ ทางโรงพยาบาลก็จะถามตลอดว่ามีหลักทรัพย์เท่าไร มีเงินในบัญชีเท่าไร แต่สุดท้ายแล้วเป็นความโชคดีของเราที่สามารถประสานงานส่งตัวคุณแม่ไปยังโรงพยาบาลรัฐต้นสังกัดได้ จึงเสียเงินแค่ 8 หมื่นบาทเท่านั้น” น.ส.ไพจิตรา กล่าว

น.ส.ไพจิตรา กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวคิดว่าอาการของมารดาเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินซึ่งจะได้รับการรักษาฟรี จึงได้ทำหนังสือไปถึงกองทุนฉุกเฉินซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเล่าลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียด ซึ่งภายใต้กระบวนการนี้ใช้เวลาร่วมๆ 2 ปี ทาง สปสช.ได้ตอบกลับมาว่ากรณีของมารดาเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินจริงๆ และได้ทำหนังสือไปยังโรงพยาบาลเอกชนว่าสามารถเบิกเงินค่ารักษาจากกองทุนได้ 100%

“แต่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นกลับไม่ยอมตั้งเรื่องเบิกเงินไปที่กองทุน ทั้งๆ ที่ถ้าเขาตั้งเรื่องเบิกไปยัง สปสช. เราก็จะได้เงิน 8 หมื่นบาทคืน แต่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นก็ไม่ทำอะไรให้ และไม่ตอบเหตุผลด้วยว่าเพราะอะไร ซึ่งทาง สปสช.ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาไม่สามารถจ่ายเงินโดยตรงให้กับผู้ป่วยได้ สปสช.ก็บอกเราว่าทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน เพราะโรงพยาบาลไม่ยอมตั้งเบิก จริงๆ มันแค่จดหมายฉบับเดียว แต่โรงพยาบาลก็ไม่ทำให้” น.ส.ไพจิตรา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สภาผู้บริโภค’ จี้รัฐล้อมคอก รพ.เอกชน ขูดรีดค่ารักษาพยาบาล

สภาผู้บริโภคจี้ รพ.เอกชน รับผิดชอบต่อสังคม เหตุถูกร้องเรียนอื้อ

เครือข่ายผู้ป่วยฯ วอนสังคมรวมพลัง 5 หมื่นชื่อ ชง ‘นายกฯ’ ตั้งหน่วยงานคุมราคา รพ.เอกชน

เหยื่อ รพ.เอกชน สุดช้ำ ถูกรีดค่ารักษาจากความผิดพลาดของ รพ.เอง

ค้านปล่อยเสรีธุรกิจ รพ. ภาค ปชช.เรียกร้องรัฐตรา กม.คุมค่ารักษา