“นพ.เสรี ตู้จินดา” ย้ำปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข พัฒนาระบบแพทย์ปฐมภูมิ ประชาชนทุกคนมีหมอประจำตัว โรงพยาบาลใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ลดระยะเวลาการรอคอย พร้อมผลักดันผักปลอดสารพิษ เครื่องสำอางและอาหารเสริมจากสมุนไพร รวมทั้งพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ร่วมแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “สุขภาพดี สังคมแข็งแรง สื่อสร้างสรรค์” โดยกล่าวถึงความคืบหน้าแผนการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ว่า คณะกรรมการฯ ได้สรุปแนวทางปฏิรูปไว้ 4 ด้าน 10 ประเด็น ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่จะขอกล่าวถึงคือนโยบายการสร้างระบบบริการปฐมภูมิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะขยายการมีแพทย์ลงไปประจำถึงระดับชุมชน ครอบครัว และในระดับรายบุคคล หรือที่เรียกว่าหมอครอบครัวบวกด้วยทีมสหวิชาชีพที่ลงไปดูแลประชาชนถึงบ้าน ประชาชนทุกคนจะมีหมอประจำตัวเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถปรึกษาหมอประจำตัวได้ ถ้ารักษาได้ก็รักษา แต่ถ้ารักษาไม่ได้ก็จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยเป็นระบบการส่งต่อแบบไร้รอยต่อ ส่วนทีมสหวิชาชีพก็จะช่วยให้คำปรึกษา ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน
“สิ่งที่เราต้องการคือให้หมอครอบครัวบวกด้วยทีมสหวิชาชีพไปดูแลประชาชนถึงบ้านเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น คนไข้ติดเตียง ก็เป็นติดบ้าน ติดบ้านเป็นติดสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถเติมเต็มบุคลากรได้ครบภายใน 10 ปี” นพ.เสรี กล่าว
ขณะเดียวกัน ในส่วนของโรงพยาบาล จะมีระบบ Electronic Medical Record และ Electronic Personal Record บันทึกสุขภาพในระบบตลอดเวลา และคนไข้สามารถขอดูได้ เมื่อมีการนำระบบสารสนเทศมาใช้ก็จะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยที่โรงพยาบาลผู้ป่วยสามารถติดต่อโรงพยาบาลว่าจะมาตรวจ จะตรวจกับแพทย์คนไหน ตรวจเวลาไหน ซึ่งการลดเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลก็ทำให้ผู้ป่วยและญาติที่มาส่งเอาเวลาไปทำงานได้ ไม่ต้องเสียเวลามารอคิวตั้งแต่เช้าตรู่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปฏิรูปแพทย์แผนไทย ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีประเด็นย่อยที่ต้องทำคือการพัฒนาสมุนไพรให้ครบห่วงโซ่ สามารถสู่เวทีโลกได้โดยเฉพาะสมุนไพรและอาหารเสริม อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังมีปัญหาคือสมุนไพรที่ปลูกได้แต่ละพื้นที่คุณภาพไม่เท่ากัน บางชนิดปลูกได้ในบางภาค ถ้าไปปลูกภาคอื่นแล้วสารสกัดที่ได้จะไม่มีคุณภาพ
“ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกระทรวงสาธารณสุขที่จะบูรณาการให้ความรู้ประชาชนว่าปลูกอะไรในพื้นที่ไหน” นพ.เสรี กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นเรื่องการผลักดันผักและผลไม้ปลอดสารพิษ โดยขณะนี้เริ่มต้นจากการให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซื้อผักปลอดสารพิษจากประชาชน โดยกำหนดความต้องการล่วงหน้าว่าต้องการผักชนิดไหน ปริมาณเท่าใด และในระยะเวลาอีกกี่วัน ประชาชนก็สามารถวางแผนการปลูกแล้วนำมาขายให้โรงพยาบาลโดยตรงตามราคาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งก็จะเป็นราคาที่แพงกว่าราคาตลาดอีกด้วย
“การทำงานเรื่องนี้ต้องบูรณาการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวเรือใหญ่ กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงต้นน้ำในการดูแลเรื่องปลอดสารพิษ กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคา และกระทรวงสาธารณสุขเป็นปลายน้ำ ส่วนประชาชนก็ได้ประโยชน์ ผักสวย-ไม่สวยก็ซื้อราคาเดียวกัน เรื่องนี้ตอนแรกๆ โรงพยาบาลก็อึดอัดเพราะต้องซื้อผักราคาแพงกว่าตลาด ถ้ารัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเงินให้โรงพยาบาลสำหรับซื้อผักจากประชาชนก็จะเป็นสิ่งที่ดี” นพ.เสรี กล่าว
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ กำลังคิดอีกว่าในโรงพยาบาลที่มีพื้นที่ว่างก็ให้ประชาชนมาปลูกผักในโรงพยาบาลแล้วขายให้โรงพยาบาลเลยหรือไม่ เช่น คนจน 11 ล้านคน ให้มาทำได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปศึกษาระเบียบต่างๆ ดู ถ้าทำได้ก็จะช่วยให้คนจนอาชีพเกิดขึ้น
ทั้งนี้ เป้าหมายที่คณะกรรมการฯ ต้องการเห็นในระยะ 5 ปีข้างหน้าคือโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีลดลง โรคเบาหวาน ความดันลดลงเพราะประชาชนได้กินผักปลอดสาร ได้ออกกำลังกายจากการปลูกผัก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับ ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับว่าสมุนไพรแต่ละตัวสามารถรักษาโรคนี้ได้หรือไม่ เป็นต้น
อนึ่ง การปฏิรูปด้านสาธารณสุข 4 ด้าน 10 ประเด็น ประกอบด้วย ด้านระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ แบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ ความมีเอกภาพของระบบสุขภาพ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพและเรื่องกำลังคนสุขภาพ
ด้านระบบบริการสาธารณสุข มี 4 ประเด็น คือ ระบบบริการปฐมภูมิ การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อเศรษฐกิจ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มี 2 ประเด็น คือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
และด้านความยั่งยืนและเพียงพอด้านการเงินการคลังสุขภาพ คือประเด็นระบบสุขภาพมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและมีความยั่งยืน
- 23 views