รพ.น่าน เจ๋ง คิดค้น “นวัตกรรมคิวรับยาด้วยระบบ QR Code” ช่วยผู้ป่วยมั่นใจ รู้สถานะยารอรับผ่านมือถือ แถมทำธุระอื่นระหว่างรอได้ ไม่ต้องคอยนานหน้าช่องจ่ายยา เผยอยู่ระหว่างประเมินผล หลังเริ่มทดลองใช้ ม.ค. 61 เบื้องต้นผู้ป่วยและญาติพึงพอใจ ช่วยตอบโจทย์ได้
ภก.ชาญวิทย์ วัฒนพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า โรงพยาบาลน่านเป็นโรงพยาบาลทั่วไปเพียงแห่งเดียวในจังหวัดน่าน แต่ละวันมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการ 1,000-1,500 ราย นั่นหมายถึงจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับยาเช่นกัน โรงพยาบาลมีห้องจ่ายยา 2 ห้อง ทำให้เกิดความหนาแน่นในการรอรับยา โดยเฉพาะเวลา 10:00-13:00 น. ซึ่งจะมีผู้ป่วยรอรับยามากเป็นพิเศษ โดยในระหว่างการรอรับยาที่ต้องใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ผู้ป่วยจะมีปัญหาคือไม่รู้สถานะการรอรับยาของตนเองว่าอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว และยังต้องใช้เวลารอนานแค่ไหน ทั้งการจ่ายยาแต่ละกลุ่มเจ้าหน้าที่และเภสัชกรอาจต้องใช้เวลาจัดยาที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้กลุ่มงานเภสัชกรรมจึงได้ร่วมกับศูนย์สารสนเทศของโรงพยาบาลพัฒนา “นวัตกรรมคิวรับยาด้วยระบบ QR Code” ขึ้น โดยพัฒนาซอฟแวร์ใหม่ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้ป่วยและผู้มารอรับยา สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ
วิธีการโดยหลังจากที่มีการยื่นใบสั่งยาที่ห้องยาแล้ว เจ้าหน้าที่ห้องยาจะให้ใบคิวรับยาที่มีเลขที่รอรับยาและ QR Code ให้กับผู้รับบริการ นอกจากจะดูสถานะการรอจ่ายยาได้จากจอภาพแสดงสถานะการรอรับยาหน้าห้องจ่ายยาแล้ว ผู้ป่วยและญาติยังสามารถใช้ QR Code ดูผ่านแอพพลิเคชั่น line ในโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ซึ่งนอกจากทำให้รู้ถึงสถานะของยาที่รอรับว่าอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว เช่น อยู่ระหว่างการคีย์ข้อมูลยา การรอเช็คยาในคลังยา การเตรียมจัดยา และสถานะที่รอพร้อมจ่ายยาแล้ว เป็นต้น ผู้รับบริการในกรณีที่มีธุระอื่นหรือในระหว่างที่รออาจจะไปซื้อน้ำ กินข้าว หรือเข้าห้องน้ำ จะสามารถเช็คสถานะยาที่รอรับได้โดยตลอดผ่าน QR Code นี้ได้ และเมื่อยาเข้าสู่หมวดพร้อมจ่ายยาแล้ว ผู้รับบริการสามารถเดินมารับยาที่ช่องรับยาได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวกในการรับยาและช่วยลดความกังวลในการรอให้กับผู้ป่วยและญาติได้
“การรอคอยการจ่ายยาของผู้ป่วยเป็นโจทย์ที่กลุ่มงานเภสัชกรรมมีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหา ช่วยลดการรอคิวรับยา โดยเฉพาะช่วงเวลาคอขวด คิวรับยาหนาแน่น ก่อนที่จะมีการใช้ระบบ QR Code นี้ เราได้มีการจัดแบ่งกลุ่มยาเป็น A B C และ D เพื่อแบ่งกลุ่มยาที่ต้องใช้เวลาในการจัดเตรียม ขณะเดียวกันผู้ป่วยจะได้ทราบระยะเวลาที่ต้องรอคอย ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีผู้ป่วยและญาติเดินมาสอบถามที่ช่องจ่ายยาอยู่ ดังนั้นจึงคิดหาวิธีใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงสถานะยาที่รอรับ นำมาสู่การจัดคิวรับยาด้วยระบบ QR Code นี้ โดยหารือกับศูนย์สารสนเทศ ใช้เวลาพัฒนาซอฟแวร์ประมาณ 3เดือน” หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม กล่าวและว่า สำหรับปัญหาอุปสรรคคงเป็นเรื่องฐานข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งในส่วนของยา ผู้รับยา ซึ่งอาจทำให้ระบบเกิดความล่าช้าไปบ้าง
ภก.ชาญวิทย์ กล่าวว่า จากที่ได้นำร่องทดลองใช้ระบบคิวรับยาด้วย QR Code ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้แม้ว่ายังอยู่ระหว่างการประเมินผล โดยทำการเก็บข้อมูลทั้งก่อนและหลังทดลองใช้ ทั้งในส่วนผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ เภสัชกรผู้ให้บริการเอง แต่จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติที่ทดลองใช้ต่างรู้สึกพอใจเพราะช่วยเพิ่มความสะดวกนอกจากรู้สถานะยาที่รอรับแล้ว ยังสามารถไปทำธุระอย่างอื่นก่อนได้ ขณะเดียวกันในส่วนของด้านเจ้าหน้าที่และเภสัชกรห้องจ่ายยา ช่วงเริ่มต้นระบบอาจต้องมีการทำความเข้าใจและปรับปรุงการทำงานบ้างเล็กน้อย ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แต่ภาพรวมถือว่าดี เพราะนอกจากช่วยลดการชี้แจงสถานะการจ่ายยาจากการสอบถามของญาติและผู้ป่วยแล้ว ในการทำงานยังมีการคีย์ข้อมูล มีการบันทึกลงเวลาอย่างเป็นระบบที่ส่งผลดีต่อการทำงาน
ส่วนงบลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมคิวรับยาด้วยระบบ QR Code นั้น ภก.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้อุปกรณ์เดิมที่มีอยู่ เพียงแต่ต้องจัดซื้อเครื่องสแกนบาร์โคดเพิ่มเติมเท่านั้น เพราะในการจ่ายยาในทุกขั้นตอนต้องมีการยิงรหัสทั้งหมด และเพิ่มเติมในส่วนของจอภาพ ส่วนการพัฒนาซอฟต์แวร์ เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกับศูนย์สารสนเทศของโรงพยาบาลเอง นักโปรแกรมเมอร์เป็นคนของโรงพยาบาลเอง จึงไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ส่วนหลังจากนี้อาจมีการต่อยอดไปยังการจ่ายยาในส่วนผู้ป่วยใน หากโรงพยาบาลใดสนใจ ยินดีที่จะถ่ายทอด เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย
ภก.ชาญวิทย์ กล่าวว่า นอกจากการใช้ QR Code ในการจัดคิวรับยาแล้ว ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลน่านยังได้ร่วมดำเนินโครงการแอปพลิแคชั่น RDU รู้เรื่องยา ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลยาบนซองยาโดยใช้ QR Code เช่นกัน เป็นโครงการที่ร่วมกันทำทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับการรักษายังต่างโรงพยาบาล แพทย์จะทราบได้ว่า ผู้ป่วยได้รับยาอะไร จำนวณเท่าไหร่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการักษาและดูแลผู้ป่วยต่อไป
ทั้งนี้สามารถเข้าดูคลิปการใช้งานได้ ที่นี่
- 981 views