ผู้แทนราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เปิดข้อมูลวิชาการยืนยันแม้ทำหมันแต่มีโอกาสท้อง ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดในทางทฤษฎีได้ผลเฉียบ แต่พบหลายปัจจัยที่กระทบต่อประสิทธิภาพการใช้งาน

รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ ผู้แทนราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 กรณีการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการคุมกำเนิด” ซึ่งอยู่ภายใต้งาน Policy Dialogue คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ & คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2561 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้วิธีการคุมกำเนิดมีด้วยกันหลากหลายวิธี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด และการไม่ใช้ฮอร์โมน เช่น การทำหมัน

รศ.นพ.อรรณพ กล่าวว่า กลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นยากิน ยาฉีด ยาฝัง แผ่นแปะผิวหนัง คือระงับการตกไข่ เปลี่ยนแปลงสภาพปากมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูกให้ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว โดยประเทศไทยนิยมใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดมากที่สุด ซึ่งมีประสิทธิภาพในทางทฤษฎีคือโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 1% แต่ก็ยังเกิดปัญหาเรื่องการรับประทานไม่ถูกต้อง รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น น้ำหนักตัวของผู้รับประทาน

สำหรับการไม่ใช้ฮอร์โมนรวมถึงการทำหมันนั้น ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยี แต่อยู่ภายใต้หลักการเดียวกันคือการทำให้ท่อรังไข่อุดตันทั้งสองข้าง โดยวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือการทำศัลยกรรมด้วยการผูกท่อรังไข่แล้วก็ตัด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการทำหมันไปแล้วก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ โดยมักพบใน 2 กรณี ได้แก่ 1.แพทย์ที่ทำหมันไปตัดหรือผูกส่วนอื่นที่ไม่ใช่ท่อรังไข่ แต่ปัจจุบันมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก 2.ท่อรังไข่ไปเชื่อมต่อกันเอง หรือมีรูที่เข้าไปในช่องท้องจนทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ทั้งในและนอกมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุนี้

“ไม่ว่าจะคุมกำเนิดด้วยการใช้ฮอร์โมนหรือการผ่าตัดทำหมันก็ยังมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้” รศ.นพ.อรรณพ กล่าว

รศ.นพ.อรรณพ กล่าวว่า ผลการศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่าโอกาสการตั้งครรภ์หลังจากการคุมกำเนิดในช่วง 5 ปี อยู่ที่ 13 ต่อ 1,000 ราย ขณะที่ในช่วง 10 ปี อัตราอยู่ที่ 18.5 ต่อ 1,000 ราย ขณะที่องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลไว้ว่ามีอัตราอยู่ที่ 5 ต่อ1,000 ราย ส่วนประเทศไทยทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเคยเก็บสถิติและพบว่าอยู่ที่ 0.2-2 ต่อ 1,000 ราย ซึ่งความแตกต่างของข้อมูลเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดเก็บข้อมูลและเทคโนโลยีในการคุมกำเนิดของแต่ละประเทศ

อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จ่ายชดเชยตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้กับประชาชนที่ตั้งครรภ์ภายหลังทำหมันแล้ว แต่ยังมีความเห็นของแพทย์แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากกรณีนี้เป็นเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ ไม่ใช่ความผิดพลาดจากการให้บริการ ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสมควรที่จะต้องจ่ายชดเชยต่อไป เนื่องจากเจตนารมณ์ของมาตรา 44 คือการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ไม่ใช่การพิสูจน์ถูกผิดของผู้ให้บริการ ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันหารือเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมเสนอบอร์ด สปสช.ตั้ง คกก.ร่วมหาข้อยุติ จ่ายเงิน ม.41 กรณีทำหมันแล้วท้อง

แพทย์ชนบทอาวุโสขอพูดแทนชาวบ้าน หนุนจ่าย 1 แสนทำหมันแล้วท้อง ช่วยเด็กเติบโตคุณภาพ