เป็นเรื่องท้าทายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ราคาบุหรี่ต่างประเทศ แค่ซองละ 30 บาท ขณะที่ราคาขายทั่วประเทศสูงถึงซองละ 80 บาท ความสามารถเข้าถึงบุหรี่แบบง่ายๆ เพราะราคาถูก ไม่ได้ทำให้ ชาวบ้าน ตำบลมะรือโบตก จ.นราธิวาส กลายเป็นสิงห์อมควันอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ต้นทุนทาง“ศาสนาอิสลาม” ที่มีหลักคำสอนที่ว่า การทำร้ายตัวเองเป็นบาปกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ลด ละ เลิก บุหรี่ และยาเส้น จนทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ลดลง
จากการสรุปบทเรียนครึ่งทางของการทำงาน นับจากต้นปี 2560 ที่ลงนามความร่วมมือร่วมกันระหว่าง สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่างเพื่อทำกิจกรรมนำไปสู่เป้าหมายการลด ละ เลิก การบริโภคยาสูบ ภายใต้การณรงค์ “เลิกสูบก็เจอสุข : ปฏิบัติการ ลดพื้นที่สูบ เพิ่มพื้นที่สุข”
ในเขตเทศบาลตำบลมะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส สร้างบุคคลต้นแบบที่หยุดสูบบุหรี่เด็ดขาด 65 ราย บ้านไร้ควัน 120 ราย มัสยิดปลอดบุหรี่ 5 แห่ง โรงเรียนไร้ควัน 2 แห่ง ส่วนข้อมูลเขตผู้สูบบุหรี่ในเทศบาล 24.8% เป็นพนักงานในเทศบาลที่สูบบุหรี่ทั้งหมด 49 คน ที่หยุดได้ แบบหักดิบได้ 40 ราย คงเหลือ 9 ราย แม้ผลการดำเนินงานของตำบลจะแนวโน้มประสบความสำเร็จด้วยดีแต่ในหลายพื้นที่ก็ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดย นางเดียนา ประจงไสย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน เทศบาล ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา บอกว่า อุปสรรคหลักๆ คือ ผู้ที่สูบบุหรี่มานานจะเลิกยาก แม้จะนำหลักศาสนามาชี้นำ แต่ทางกายภาพแล้วบุหรี่คือสารเสพติดทำให้เลิกยาก
นางเดียนา ประจงไสย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน เทศบาล ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา
“ผู้ที่สูบบุหรี่มานานเลิกได้ยากมาก แม้ว่าจะมีผู้สนใจสมัครเพื่อเลิกบุหรี่ 138 ราย แต่เลิกได้จริง 15 ราย หรือ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ถือว่าน้อยมาก”
ในบางพื้นที่กลไกศาสนาอย่างเดียวอาจจะไม่เกียงพอ ต้องปรับแผนในการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ โดยเน้นให้คำแนะนำวิธีการเลิกบุหรี่ เช่น การใช้สมุนไพรพื้นบ้าน คือ หญ้าดอกขาว มาตากแห้งทำเป็นชา ชงดื่มช่วยลดความอยากบุหรี่ และการให้คำแนะนำการเลิกบุหรี่ด้านอื่นๆควบคู่กันไป สำหรับแผนการทำงานใหม่นี้ จะเพิ่มกลุ่มเป้าหมายไปที่เยาวชนไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ ผ่านการทำงานร่วมกับสถานศึกษา และร่วมมือกับผู้นำศาสนาเพื่อย้ำประเด็นด้านการผิดหลักศาสนาอิสลามให้เข้มข้นขึ้น
“เรื่องศาสนาช่วยได้ เมื่อมีการพูดขึ้นมา ก็จะมีคนฟังและตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาคือ เมื่อคนติดบุหรี่มานานก็จะเลิกยาก ดังนั้นสิ่งที่จะทำเพิ่มจากนี้คือ เราคิดว่าต้องป้องกันนักสูบหน้าใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นจะดีกว่า” นางเดียนา กล่าว
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.
ความสำคัญของต้นทุนทางศาสนาคือกลไกความสำเร็จที่สำคัญ โดย นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การที่“ผู้นำศาสนา หรือ โต๊ะอิหม่าม ให้ความร่วมมือ โดยกำหนดให้บริเวณมัสยิดต้องปลอดบุหรี่ และการกุตุบะห์ (เทศนา) ช่วงละหมาดวันศุกร์ เพื่อย้ำถึงความผิดตามหลักศาสนาว่าด้วยการทำร้ายตัวเองนั้นเป็นบาป ก็เป็นอีกกลไกที่พบว่าได้ผลอย่างดี
นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนการให้องค์ความรู้ผ่านคลินิกเลิกบุหรี่และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดปริมาณนิโคตินในร่างกาย ซึ่งจะเป็นข้อมูลชี้วัดที่ชัดที่สุดว่าผู้สูบมีปริมาณสารพิษในร่างกายสูง มากน้อยเพียงใด ส่วนอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้และเกิดความตื่นตัวได้คือ การให้ชุมชน รวมทั้งโรงเรียนทำหน้าที่ให้องค์ความรู้กับเด็กๆ เพื่อเป็นอีกเครื่องมือสื่อสารไปถึงผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ขณะที่สถานพยาบาลและสาธารณะสุขจะเพิ่มการให้ความรู้ถึงอันตรายจากบุหรี่มือสอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนในบ้าน เช่น เด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์
การใช้ต้นทุนทางสังคม คือ “ศาสนาอิสลาม”มาเป็นกลไกการขับเคลื่อนให้ชุมชนควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องมือ ที่ช่วยสกัดนักสูบหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี นางสาวดวงพร กล่าวในตอนท้าย
- 418 views