“รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” คำขวัญวันเด็ก ปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สื่อมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กเพิ่มขึ้นทุกขณะ ยุคที่กระแสของโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กๆ ใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ รอบตัวมากกว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจมากกว่า สื่อจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงอิทธิพลและยอดนิยมต่อเด็กและเยาวชนที่สามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆ สู่เด็กโดยตรง และผลกระทบที่ตามมาคือ เด็กจะเสพสื่อที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะพฤติกรรมทางเพศ ความรุนแรง และการบริโภคนิยม สึ่งนี้จะส่งผลเสียต่อเด็ก ครอบครัว ชุมชนและสังคมต่อไปในอนาคต

ดังนั้นเพื่อให้เด็กไทยสามารถแยกแยะสื่อจากพื้นฐานความรู้ที่เข้มแข็ง โดยการรู้เท่าทันสื่อและนำสื่อไปใช้อย่างสร้างสรรค์ รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้สร้างสรรค์สื่อมากขึ้น สสส. จึงร่วมกับ สสย. และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งสื่อออนไลน์ หนังสือนิทาน อินโฟกราฟฟิก ฯลฯ เพื่อช่วยให้เด็กไทยและผู้ผลิตสื่อใช้พลังของการสื่อสารสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล ถือเป็นคุณสมบัติของเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถเลือกรับ วิเคราะห์ ประเมิน และนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ในทางสร้างสรรค์ รวมทั้งความสามารถในการผลิตสื่อที่ดีเพื่อขับเคลื่อนสังคม อย่างสร้างสรรค์

สิ่งที่ “ผู้รับสื่อ” ต้องพิจารณา

1.สื่อมีที่มาอย่างไร ใครเป็นเจ้าของ

2.มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

3. สื่อต้องการจะบอกอะไรกับเรา

4.สื่อมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของเราอย่างไร

5.สื่อกำลังสร้างและสะท้อนค่านิยมอะไรในสังคม

และสิ่งที่ผู้ “ผลิตสื่อ” ต้องตระหนักรู้

1.เจตนาในการสื่อสารของเราคืออะไร

2.เรากำลังทำผิดซ้ำกับค่านิยมบางอย่างอยู่หรือไม่

3.มีใครได้รับผลกระทบจากการกระทำของเราหรือไม่

4.เรากำลังละเมิดสิทธิใครอยู่หรือไม่

องค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานอันดีของการเป็นผู้ผลิตสื่อที่ดี โดยก่อให้เกิดสื่อดีๆ มีประโยชน์เพื่อสังคม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการภายใต้การผลิตสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมองค์ประกอบนี้เป็นพื้นฐานอันดีของการเป็นผู้ผลิตสื่อที่ดี

สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ของสื่อประชาสัมพันธ์แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) http://www.childmedia.net/ และเว็บไซต์แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน http://www.happyreading.in.th/

เรื่องโดย : พัชรี บอนคำ team content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)