คณบดีกายภาพบำบัด ม.รังสิต ท้วงภาระงาน-ค่าตอบแทนนักกายภาพบำบัด “คลินิกหมอครอบครัว” สะท้อนไม่ให้ความสำคัญ ไม่ถูกรวมโครงสร้างเริ่มต้น ซ้ำถูกกำหนดบทบาทเพียงแค่ผู้สอน ขัดแย้งหลักนักกายภาพบัดบัดชุมชนเชิงรุก ขณะที่คลินิกกายภาพบำบัดเปิดใหม่พุ่ง เหตุนักกายภาพบำบัดชุมชนออกจากระบบแห่เปิด จากความต้องการเข้าถึง หวั่นซ้ำปัญหาขาดแคลนนักกายภาพบำบัดชุมชนในอนาคต
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอัตราค่าตอบแทนวิชาชีพกายภาพบำบัด ภายใต้นโยบาย “คลินิกหมอครอบครัว” ว่า มีปรากฎการณ์สะท้อนมุมมองหลายอย่างจากการกำหนดค่าตอบแทนของวิชาชีพกายภาพบำบัดที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับสุดท้าย เป็นไปได้ว่าเป็นวิชาชีพที่ถูกมองและให้สำคัญเป็นอันดับสุดท้ายภายใต้โครงสร้างคลินิกหมอครอบครัวนี้ เพราะไม่ว่าจากสัดส่วนภาระงาน การคิดคำนวณค่างาน รวมถึงอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับ เหมือนว่านักกายภาพบำบัดไม่ได้ถูกนำมาคิดหรือรวมอยู่ในโครงสร้างมาก่อน ไม่ได้ถูกมองว่าอยู่ในทีม แต่เมื่อมีการเรียกร้องจึงได้มีการบรรจุวิชาชีพกายภาพบำบัดในโครงสร้างในภายหลัง ดังนั้นจึงเป็นวิชาชีพบรรจุอยู่ในอันดับท้าย
เมื่อดูจากตารางค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นภาระงาน สัดส่วนความรับผิดชอบต่อประชากร ซึ่งนักกายภาพบำบัดมีอัตราการดูแลประชากร 1:30,000 ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นไปไม่ได้ หากต้องการให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด และเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพอื่นที่มีรูปแบบการทำงานใกล้เคียงกัน กลับมีการอัตราดูแลประชากรที่น้อยกว่า เหนื่อยน้อยกว่า คือดูแลประชากร 1:10,000 เมื่อนำมาคำนวณกับค่าวิชาชีพที่กำหนด 0.2 จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคิดว่าเป็นการนำหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (Pay for performance: P4P) ในโรงพยาบาลมาคำนวณเป็นค่าตอบแทนคลินิกหมอครอบครัว
ดร.วรชาติ กล่าวว่า ในการผลิตนักกายภาพบำบัด สถาบันการศึกษาทั้ง 16 แห่ง มีหลักสูตรการสอนวิชากายภาพบำบัดชุมชนที่มุ่งให้นักกายภาพบำบัดทำงานเชิงรุกในชุมชน ไม่เพียงแต่ตั้งรับดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและทำงานในชุมชนได้ เช่น การให้คำแนะนำผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยไม่มากหรือกลุ่มคนทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในการดูแลตนเอง เป็นต้น เพื่อมีส่วนร่วมลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน แต่จากรูปแบบหมอครอบครัวที่ปรากฎกลับขัดแย้งกับสิ่งที่สถาบันการศึกษาได้สอนและต้องการให้นักศึกษานำไปใช้ เพราะเป็นการจำกัดให้นักกายภาพบำบัดทำงานเฉพาะในโรงพยาบาล ทั้งยังขัดแย้งในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้นโยบายหมอครอบครัว คือ การดูแลสุขภาพประชาชนโดยทีมสหวิชาชีพ ทั้งก่อนและหลังเจ็บป่วย หลายวิชาชีพต่างมีส่วนสำคัญร่วมกัน รวมถึงนักกายภาพบำบัด แต่เท่าที่ดูโครงสร้างที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้น ทั้งจำนวนต่อประชากรและอัตราค่าตอบแทน นักกายภาพบำบัดถูกกำหนดในโครงสร้างให้ทำหน้าเป็นเพียงผู้ฝึกสอนหรือผู้อบรมกายภาพบำบัดให้ อสม. หรือคนในครอบครัวเท่านั้น โดยให้มีการประเมินผลเป็นครั้งคราวที่ไม่เพียงพอต่อการเกิดระบบสุขภาพที่ดีได้ เนื่องจากไม่ได้สนับสนุนการทำงานในเชิงรุก ทั้งที่สถานการณ์จริงบางครั้งนักกายภาพบำบัดสามารถทำงานแทนวิชาชีพอื่นๆ ได้ อาทิ การประเมินอาการ การประเมินกิจกรรมบำบัด การประเมินการเคลื่อนไหวและการพูด เป็นต้น เรียกว่ามีหน้าที่หลากหลาย
ดร.วรชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจำนวนนักกายภาพบำบัดในชุมชนที่ทำงานอยู่ในระบบเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากค่าตอบแทนน้อย ภาระงานหนักเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพอื่นแล้ว ความมั่นคงด้านขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะอัตราการบรรจุก็ไม่ค่อยได้รับ ซ้ำยังไม่ได้รับการส่งเสริมบทบาทหน้าที่ในชุมชนอีก หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป สุดท้ายคงไม่มีใครอยากทำงานกายภาพบำบัดในชุมชน และหันไปทำงานนอกระบบแทน เช่น การทำงานในหน่วยบริการเอกชน หรือการเปิดคลินิกายภาพบำบัด เป็นต้น นอกจากได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่าแล้ว ยังได้รับการยอมรับในวิชาชีพมากกว่า
ขณะที่สไตล์คนรุ่นใหม่เป็นที่ทราบว่าต่างอยากมีธุรกิจของตนเองอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจึงมีตัวเลขที่น่าตกใจ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักกายภาพบำบัดออกมาเปิดคลินิกกายภาพบำบัดเองมากมาย มีการจดทะเบียนคลินิกกายภาพบำบัดเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังช่วง 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการนักกายภาพบำบัดที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความต้องการเข้าถึง แต่ภาครัฐเองกลับผลักดันให้นักกายภาพบำบัดออกจากระบบไป ซึ่งจะส่งผลให้ขาดนักกายภาพบำบัดชุมชนทำงานเชิงรุกในอนาคต
“สิ่งที่ทำได้คือคงต้องให้กำลังใจน้องๆ นักกายภาพบำบัดที่ทำงานในชุมชน แม้ว่าอัตราการกำหนดค่าตอบแทนจะยังไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่ด้วยหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนเจ็บป่วยที่รอการดูแล จึงยังคงต้องทำงานในหน้าที่รับผิดชอบต่อไป ขณะเดียวกันคงต้องร่วมให้ข้อมูลผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าใจถึงบทบาทวิชาชีพกายภาพบำบัดในการทำงานชุมชน ขณะที่วิชาชีพกายภาพบำบัดเองก็คงต้องแสดงบทบาทในการเข้ามีส่วนร่วมดูแลประชาชนในระดับปฐมภูมิให้มากขึ้น” คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวและว่า ส่วนปัญหาค่าตอบแทนคลินิกหมอครอบครัวขณะนี้เท่าที่ทราบขณะนี้มีคณะทำงานกำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ เพื่อให้มีการปรับภาระงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยสภาวิชาชีพกายภาพบำบัดเองก็กำลังทำความเข้าใจกับผู้กำหนดนโยบายให้เข้าใจบทบาทวิชาชีพกายภาพบำบัดในชุมชน ซึ่งคงต้องติดตามดูต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักกายภาพบำบัดชุมชน ร้อง สธ.ขอความเป็นธรรม ชี้ค่าตอบแทนทีมหมอครอบครัวเหลื่อมล้ำ
สธ.แจงค่าตอบแทนหมอครอบครัว 'นักกายภาพบำบัด' ไม่เหลื่อมล้ำ ชี้ใช้เกณฑ์เดิมคำนวณ
ขอบคุณภาพจาก facebook/คลินิกหมอครอบครัวเครือข่ายโรงพยาบาลทัพทัน
- 396 views