ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กทม.จับมือ สปสช. ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในเขตเมืองใหญ่ เผย 1 ปีขยายดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงสู่ 1.2 พันคน เน้นสร้างความร่วมมือเครือข่ายบริการและสหวิชาชีพ ดูแลที่บ้านแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติ พร้อมหนุนปี 61 ขับเคลื่อนกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม. ช่วยสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ลดภาวะเจ็บป่วย
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เยี่ยมชมการดำเนินงาน “ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร” เพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ที่ได้ดำเนินงานงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธผล เน้นการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ และความร่วมมือภาคีเครือข่าย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กทม.เป็นพื้นที่มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น รวมถึงกลไกบริหารจัดการสาธารณสุขในพื้นที่ เพราะด้วยความเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยมีกลุ่มประชากรหลักและประชากรแฝงจากจังหวัดต่างๆ ทั้งยังมีความหลากหลายและความแตกต่างของประชากรอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก และเป็นโจทย์ใหญ่ในการบริหารจัดการด้านสุขภาพใน กทม.เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ทั้งนี้ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีนโยบายเพื่อมุ่งให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ ( Healthy city) เน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตชาว กทม.นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และเป็นที่จับตามองของหลายประเทศ ในการดำเนินงานภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนนั้น ในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่ม “กองทุนดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง” (Long Term Care: LTC) ในพื้นที่ กทม. เพื่อนำไปสู่การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยดำเนินงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เป็นหนึ่งในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ที่มีการดำเนินงานกองทุน LTC ที่ดี นอกจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของทีมแพทย์และสหวิชาชีพเพื่อดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่แล้ว ยังเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยบริการ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลที่ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล
ในปี 2561 นี้ กรุงเทพมหานครยังเตรียมขับเคลื่อน “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ภายหลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณ และกรุงเทพมหานครร่วมสมทบ ทำให้มีงบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานมุ่งสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนพื่อดูแลสุขภาพตนเอง ลดการเจ็บป่วย โดยมีผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย
ด้าน พญ.ดลจรัส ทิพย์มโนสิงห์ ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 60ฯ ในพื้นที่มีประชากรสูงอายุ 24,745 คน ในจำนวนเป็นผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี ถึง 15,364 คน ในการดำเนินงาน LTC เป้าหมายสำคัญคือการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมและครอบคลุมทุกมิติ แก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างเหมาะสม ลดภาวะแทรกซ้อนและความพิการ เข้าถึงบริการทางกายและใจที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ขณะเดียวกันให้มีการจัดระบบและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยทีมสหวิชาชีพ จัดระบบการพยาบาลที่บ้าน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย พร้อมจัดระบบการส่งต่อที่เชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย
“จากกองทุน LTC ส่งผลให้ในปีนี้มีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงและผู้พิการในพื้นที่ได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2558 อยู่ที่ 96 ราย ปี 2559 อยู่ที่ 194 ราย และในปี 2560 ก้าวกระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 1,384 ราย หรือเพิ่มขึ้น 1,190 ราย ซึ่งในปี 2561 ศูนย์บริการสาธารณสุข 60ฯ ยังมีแผนขยายการดูแลเพื่อให้ครอบคลุมผู้สูงอายุและผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มขึ้น” พญ.ดลจรัส กล่าว
- 530 views