ศวปถ.ชี้ปมอุบัติเหตุเทศกาลปีใหม่ ความเร็วและเมาแล้วขับยังเป็นต้นเหตุปัญหาหลัก กระตุกสังคม อย่าหลงทางปัญหาเมินเมาขับไม่สำคัญ ชี้ภัยดื่มขับวงจรสังเวยอุบัติเหตุ ระบุแม้บังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้น แต่ไม่สมดุลความเสี่ยง เหตุเจ้าหน้าที่ตรวจจับแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลได้จำกัด จี้ล้อมคอกดื่มขับ เพิ่มเครื่องมือวัดแอลกอฮอล์ งัดกฎเหล็กคุมเข้ม บังคับอุบัติเหตุตาย/สาหัสต้องเป่าทุกราย พร้อมจัดหนักคดีอุบัติเหตุจราจรเข้าที่ประชุมมั่นคงทุกระดับ
นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2561 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากช่วง 7 วันเทศกาล เป็น 463 ราย โดยผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย 7,423 ราย ในจำนวนนี้ 17.9% เป็นเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 1,329 ราย หรือเฉลี่ย 189.86 ราย/วัน
โดยในช่วงฉลองจะมีสัดส่วนผู้บาดเจ็บที่ดื่มร่วมด้วยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ใช้อุปกรณ์นิรภัยลดลง โดยเฉพาะผู้ขี่จักรยานยนต์ มีการสวมหมวกนิรภัยลดลง เหลือเพียง 15% นอกจากนี้การใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้บาดเจ็บก็พบเฉลี่ยเพียง 27.16%
อย่างไรก็ตามแม้มีการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สมดุลกับความเสี่ยงบนถนน โดยเทศกาลปีใหม่พบว่าการดำเนินคดีใน 10 ข้อหาเพิ่มขึ้น 30% โดยเฉพาะข้อหาหลักขับเร็ว ดำเนินคดี 55,908 รายเพิ่มขึ้นจาก 37,019 ราย (เพิ่ม51.03%) และข้อหาเมาขับ ดำเนินคดี 20,125 ราย เพิ่มจาก 13,491 ราย (เพิ่ม 49.17%)
นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย ในกรณีที่มีเสียชีวิต/หรือบาดเจ็บสาหัส เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลทุกราย โดยเบื้องต้นมีการรายงานว่า ตรวจวัดไปกว่า 1,000 ราย และทราบผลเบื้องต้น 200 ราย พบมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด 50% ซึ่งผลตรวจจะถูกนำไปฟ้องดำเนินคดีต่อไป
“เมื่อเทียบกับความเสี่ยงบนท้องถนนที่มีอยู่จำนวนมาก จะพบว่าการดำเนินคดียังทำได้จำกัด ดังจะเห็นได้จากคดีเมาแล้วขับ 20,125 ราย คิดเฉลี่ยได้ 37.3 ราย/จังหวัด/วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับการมีคนดื่มขับจำนวนมากบนถนน ถือได้ว่าการตรวจจับยังทำได้จำกัดไม่สมดุลกับความเสี่ยงบนถนน รวมทั้งเมื่อศาลตัดสินผู้กระทำความผิด เมาขับ ก็พบว่ามีการส่งคุมประพฤติ เพียง 1 ใน 3 ที่เหลือ 2 ใน 3 ยังคงเพียงโทษปรับ โทษจำ รอลงอาญา” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว
นพ.ธนะพงษ์ กล่าวต่อว่า มีการพยายามมองเรื่องเมาแล้วขับไม่สำคัญซึ่งเป็นการหลงทาง เพราะแท้จริงคือ การบังคับใช้น้อยไป แต่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น ซึ่งการดื่มยังเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ และจะพบว่าความเสี่ยงบนถนนในช่วงเทศกาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณการทางเดิน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การฉลองหรือกิจกรรมที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ประกอบกับข้อจำกัดของตำรวจที่มีภารกิจทั้งจัดการจราจรและบังคับใช้กฎหมายควบคู่กัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายในความเสี่ยงหลัก เช่น ขับเร็ว ดื่ม/เมาขับ ให้เพียงพอ โดยเฉพาะเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ที่มีจำกัดในทุกพื้นที่
นพ.ธนะพงศ์ ระบุว่า กรณีปัญหาดื่ม เมาขับ ต้องกำหนดให้อุบัติเหตุทุกรายที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่าย ส่วนในกรณีที่คนขับหนีจากที่เกิดเหตุ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจวัดแอลกอฮอล์ พิจารณาให้มีบทลงโทษที่รุนแรงไม่น้อยกว่า เมาขับ ชนคนตาย ทั้งเร่งกระบวนการพัฒนาระบบข้อมูลความผิดซ้ำการเชื่อมโยงข้อมูลผู้กระทำความผิดระหว่างตำรวจและกรมขนส่งทางบก รวมทั้งการกำหนดให้มีคดีอุบัติเหตุจราจรถือเป็นคดีที่ต้องรายงานและนำเสนอในการประชุมความมั่นคงทุกระดับ ทั้งอำเภอ จังหวัด ส่วนกลาง เพื่อให้ ศปถ.วางแผนป้องกันแก้ไข หรือมีมาตรการที่เหมาะสมต่อไป
- 6 views