บอร์ด สปสช.อนุมัติสิทธิประโยชน์ยาจำเป็นแต่มีราคาแพง 5 กลุ่มโรค 7 รายการ ช่วยคนไทยเข้าถึงยาใหม่ที่มีความจำเป็นต่อการรักษา ลดเวลาในการกินยา ลดผลข้างเคียง และประหยัดงบประมาณลงได้จำนวนมาก

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 มีมติอนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาจำเป็นแต่มีราคาแพง 5 กลุ่มโรค 7 รายการ ดังนี้

1.ยารักษาการติดเชื้อราในกระแสเลือด

1.1 ยา Voriconazole (โวริโคนาโซล) ยาเดิมเพิ่มเติมข้อบ่งใช้ สำหรับรักษาการติดเชื้อราแอสเปอจิรัสระยะลุกลามจากเชื้อราชนิด Fusarium spp. (ฟูซาเรียม) และ Scedosporium spp. (สเก็ดโดสปอเรียม)

1.2 ยา Micafungin (ไมคาฟังกิน) ยาใหม่ใช้เป็นทางเลือก สำหรับรักษาการติดเชื้อราชนิด Invasive candidiasis ที่ดื้อต่อยา Fluconazole (ฟลูโคนาโซล) หรือไม่สามารถใช้ amphotericin B (แอมเธอริซิน บี) ได้

2.ยา Deferasirox (ดีเฟอราซีร็อกซ์) ยาใหม่ใช้เป็นทางเลือก ยาเพิ่มการขับเหล็กในผู้ป่วยธาลัสซีเมียเด็กที่มีปัญหาการใช้ยาฉีดไม่ได้ผล

3.ยา Raltegravir (ราลทิกราเวียร์) ยาใหม่ใช้ร่วมกับยาเดิม เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อต่อสูตรพื้นฐาน

4.ยา Rituximab (ริทูซิแมบ) ยาใหม่ใช้ร่วมกับยาเดิม เป็นยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด DLBCL ที่เจาะจงเฉพาะเซลล์มะเร็งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

5.ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทุกสายพันธุ์ที่ผลการรักษาดีกว่าเดิม และลดเวลาการกินยาลงจาก 6 เดือนเหลือ 3 เดือน

5.1 ยา Sofosbuvir (โซฟอสบูเวียร์) ยาใหม่ใช้ร่วมกับยาเดิม เป็นยากินในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

5.2 ยาเม็ดผสม Sofosbuvir + Ledipasvir (โซฟอสบูเวียร์ยา + เลดิพาสเวียร์) ยาใหม่ ทดแทนยาเดิม เป็นยาสูตรผสม [SOF/LDV] สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีแทนยาชนิดเดิม

ทั้งนี้ ยาทั้ง 7 รายการใน 5 กลุ่มโรคนี้ เป็นยาที่คัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ตามขั้นตอนต่างๆ ผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านภาระงบประมาณ และมีการต่อรองราคายาในราคาที่ถูกลง เช่น ยา Sofosbuvir (โซฟอสบูเวียร์) จากราคาเม็ดละ 1,500 บาท เหลือเม็ดละ 130 บาท เป็นต้น

“การเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคราคาแพงจะทำให้คนไทยเข้าถึงยาใหม่ที่มีความจำเป็นต่อการรักษา ลดเวลาในการกินยา ลดผลข้างเคียง และประหยัดงบประมาณลงได้จำนวนมาก โดยเฉพาะการบริหารยารักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังแบบกิน ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 200 ล้านบาท ทำให้มีงบประมาณเหลือพอที่จะเพิ่มยาสิทธิประโยชน์ใหม่ขึ้นมาได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว