ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา ชง สธ.มีนโยบายติดแผงโซล่าร์เซลล์-เปลี่ยนหลอดไฟ LED-เปลี่ยนแอร์ใน รพ.และ รพ.สต.ทั่วประเทศ หลังพบว่าทำแล้วช่วยลดค่าไฟลงได้ 5 หมื่นบาท/เดือน ชี้ระยะเวลาคืนทุน 7 ปี หลังจากนั้นเท่ากับใช้ไฟฟรี เอาเงินที่เหลือไปให้บริการประชาชนได้อีก
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้ใช้ 3 มาตรการเพื่อลดค่าไฟ ประกอบด้วย 1.ติดแผงแผงโซล่าร์เซลล์ 20 KW แบบ on grid (ไม่เก็บไฟใส่แบตเตอรี่) 2.เข้าโครงการกับกระทรวงพลังงานในการเปลี่ยนหลอดไฟ LED และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นระบบ Invertor ทั้งโรงพยาบาล 3.จัดระบบการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูง คือเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า และเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อ ให้เหลื่อมเวลากัน ผลปรากฏว่าบิลค่าไฟเดือน ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2559 ลงประมาณ 5.2 หมื่นบาท
นพ.สุภัทร กล่าวว่า ผลจากดำเนินมาตรการเหล่านี้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถนำเงินที่ประหยัดได้ ไปใช้ในการให้บริการประชาชนหรือทำเรื่องอื่นๆ ได้ อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบาย Green Hospital ของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นจึงอยากเรียนเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาสนับสนุนให้ดำเนินมาตรการเหล่านี้ในทุกๆ โรงพยาบาล และ รพ.สต. จะเป็นประโยชน์ ช่วยลดค่าไฟและลดโลกร้อนด้วย
ทั้งนี้ สำหรับต้นทุนการดำเนินโครงการโดยรวมอยู่ที่ 3.8 ล้านบาท โดยเป็นงบสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานในการเปลี่ยนหลอด LED และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ 2 ล้านบาท และโรงพยาบาลสมทบอีก 30% คือ 1 ล้านบาท ส่วนแผงโซล่าร์เซลล์ใช้เงินของโรงพยาบาลจัดซื้อมาอีก 8 แสนบาท ซึ่งจากตัวเลขที่ประหยัดลงได้ 5 หมื่นบาท/เดือน เท่ากับปีละ 6 แสนบาท และน่าจะใช้เวลาคืนทุนใน 7 ปี หลังจากนั้นเท่ากับโรงพยาบาลได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 20KW ไปจนแผงโซล่าร์เซลล์หมดอายุในปีที่ 25
“สำหรับข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข ผมคิดว่าอย่างง่ายที่สุดคือติดแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา เพราะกลางวันโรงพยาบาลใช้ไฟเยอะมาก มีทั้งเปิดแอร์ ทั้งเครื่องจักร เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ใช้กันเป็นว่าเล่น การติดแผงโซล่าร์เซลล์มันผลิตไฟใช้ได้เลย ก็จะช่วยลดไฟพีคในช่วงกลางวันลง ช่วยประหยัดค่าไฟลงได้ ถ้าวันไหนแดดไม่ออก เราก็ใช้ไฟน้อยเพราะอากาศไม่ร้อน ใช้แอร์น้อยลง ก็โอเค แต่วันไหนแดดร้อน ใช้แอร์เยอะ โซล่าร์เซลล์ก็จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้” นพ.สุภัทร กล่าว
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะนะ ยังจะติดตามค่าไฟที่ลดลงในเดือนต่อๆ ไปว่ามีผลเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาท/เดือน เพราะเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ในภาคใต้ยังมีฝนทำให้ผลิตไฟได้น้อย แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง ก.พ.-มี.ค.น่าจะมีแดดมาก ผลิตไฟได้มากขึ้น แต่แม้ผลิตไฟได้มากก็ต้องเปิดแอร์มาก ใช้ไฟฟ้ามากตามไปด้วย ดังนั้นเฉลี่ยแล้วน่าจะประหยัดได้ราวๆ 5 หมื่นบาทเท่าเดิม
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลจะนะ มีแผนจะติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ให้ได้อีก 40 KW ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่สุดสำหรับขนาดของโรงพยาบาล
ขอบคุณภาพจาก Facebook/นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
- 183 views