“ผม” กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยของ “การดูดีแบบครบสูตร” หลายคนโชคดีมี “ผม” ที่หนาและดกตลอดชีวิต จะดำหรือขาวก็ แล้วแต่อายุ คนที่ผมบางอาจรักตัวกลัว “ผม” หาย และดูแลรักษาอย่างดี คนที่มีพอดีๆ อาจไม่รู้ตัวแล้วรังแก “ผม” ของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
คนเราจะมีเส้นผมโดยประมาณคนละ 100,000 -150,000 เส้น “ผม” ของแต่ละคนจะดูฟูดก หยิก ตรงลีบ ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ แต่ก็จะมีจำนวนประมาณนี้ล่ะค่ะ วงจรการเติบโตของ “ผม” ก็น่าสนใจนะคะ คือ ผมเราไม่ได้งอกทุกวันแต่มีวงจรชีวิตที่ สามารถ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะการเจริญเติบโต หรือ Anagen Phase คือระยะที่ต่อมราก “ผม” จะอยู่ลึกที่สุดในชั้นหนังแท้ โดยมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่มากมาย และจะใช้เวลาประมาณ 1,000วัน หรือ 3 ปี ในการเจริญเติบโตเป็นเส้นผม ประมาณ 85-90%ของเส้นผมทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตนี้
2. ระยะหยุดการเจริญเติบโต หรือ Catagen Phase คือ ระยะหยุดการเจริญเติบโต ต่อมรากผมจะหยุดการแบ่งเซลล์ แต่ต่อมรากผมจะมีการค่อยๆเลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยทั่วไประยะนี้จะกินเวลาประมาณ 3 สัปดาห์
3. ระยะพัก หรือ Telogen Phase ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของเส้นผม เมื่อต่อมรากผมเลื่อนสูงขึ้นจนถึงบริเวณของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)แล้ว ผมของคนเราก็จะเข้าสู่ ระยะพัก ซึ่งจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆประมาณ 100 วัน หรือ 3 เดือน ทั้งนี้ 10% ของเส้นผมทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะพักนี้ ก่อนที่เซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)จะส่งสัญญาณให้ต่อมผมเลื่อนลงมาอีกครั้งเพื่อให้มีการสร้างผมใหม่ โดยเส้นผมใหม่ที่สร้างขึ้นจะดันผมเก่าให้หลุดร่วงไป
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราลองมาดูกันค่ะว่า มีโรค หรือ ปัจจัย อะไรที่จะเป็นอุปสรรคของการมี “ผม” ที่สลวยสวยเก๋ ซึ่งความจริงแล้วปัญหาของ “ผม” เกิดขึ้นได้ทุกฤดู โดยเฉพาะความร้อนของแสงแดด อาจจะไปกระตุ้นทำให้ “ผม” มันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้แบคทีเรียและยีสต์ เจริญอาหารมันนี้จนทำให้เกิดอาการคันและเป็นผื่นได้ บางคนก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เป็นโรคที่หนังศีรษะได้ เพราะฉะนั้นเราควรให้ความสนใจ “ผม” ของเราบ้างจะได้ไม่เสียใจที่หลังนะคะ
คนที่มีรังแคเยอะ และคันศีรษะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นโรค Seborrheic Dermatitis ภาษาไทยเรียกสั้นๆ ว่าโรค “เซ็บเดิร์ม” ซึ่งเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดในการเกิดโรค จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า อาจจะเกิดจากการที่หนังศีรษะมียีสต์ที่ชื่อ Malassezia furfur มากกว่าปกติ ทำให้มีการสร้างสารก่อให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง จึงเกิดเป็นผื่นคันดังกล่าว ซึ่งมีปัจจัยอื่นที่อาจมีความสัมพันธ์ร่วม เช่น การที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น ตากแดดหรือดื่มแอลกอฮอล์ ในบางฤดู เช่นฤดูหนาว หนังศีรษะอาจแห้งคันมากขึ้น เกิดความเครียด, นอนไม่พอพักผ่อนน้อย, หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน, การรับประทานยาบางอย่างเช่นยากันชัก, ยา cimetidine ที่ใช้รักษาโรคกระเพาะ อาจทำให้มีโอกาสเกิดโรค "เซ็บเดิร์ม" นี้มากขึ้นเช่นกัน แม้จะยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงได้ แต่มีคนไข้ที่เป็นโรคนี้กันมากในหน้าร้อนและหน้าหนาว
อาการของโรค “เซ็บเดิร์ม” คือ มีอาการคันที่หนังศีรษะ ผิวหนังเป็นผื่นแดง ตุ่มคัน หรือ หนังศีรษะนูนหนา มีรังแค ล้วนเป็นอาการของ “เซ็บเดิร์ม” ทั้งสิ้น โรค "เซ็บเดิร์ม" อาจมีอาการคล้ายกับโรคสะเก็ดเงินได้ แต่โรคสะเก็ดเงินจะมีผื่นแดงมากกว่า ผื่นหนากว่าและมีสะเก็ดมากกว่า โชคดีที่โรค "เซ็บเดิร์ม" ส่วนใหญ่ไม่ทำให้ “ผม” ร่วง นอกจากเป็นเยอะมากจริงๆ
“การรักษาไม่ยาก เพียงแต่คนไข้ควรหลีกเลี่ยงความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งยิ่งดื่ม จะยิ่งไปกระตุ้นให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นและควรใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบของ Ketoconazole, Tar, Salicylic acid, หรือ Ciclopiroxolamine อาจทำให้อาการคันหนังศีรษะและรังแคลดลง ในคนที่มีอาการมาก อาจใช้ยาโลชั่นที่มีส่วนประกอบของยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆหาย ๆ มักไม่หายขาด ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเท่าที่เป็นไปได้ และทายาและ/หรือสระผมด้วยแชมพูที่ผสมตัวยาดังกล่าว เพื่อทำให้อาการดีขึ้นและทำให้โรคอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้จะดีกว่า”
สำหรับ เคล็ดลับทำให้ “ผม” แข็งแรงของทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชาย คือ ต้องทานอาหารที่มี “ธาตุเหล็ก” ให้เพียงพอ เช่น ผักใบเขียว เนื้อแดงหรือเครื่องในสัตว์ แต่อย่ารับประทานมากจนเกินไปนะคะ ทานแต่พอดี ซึ่งถ้าร่างกายเรามีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ “ผม” เราก็จะเริ่มเปราะบาง และหลุดร่วงง่ายค่ะ โดยปกติแล้ว “ผม” ของเราจะร่วงวันละประมาณ 50-100 เส้น แต่วันที่สระผมอาจร่วงมากหน่อย คือ 100-200 เส้น
“ส่วนเคล็ดลับ “ผม” สวย อย่างแรกเลย อยู่ที่การเลือกใช้แชมพู เลือกใช้ยี่ห้อที่เราใช้แล้วไม่คัน ไม่ระคายเคือง สำหรับอากาศแบบบ้านเราไม่ควรเลือกใช้แชมพูที่ไม่ผสมน้ำมันเยอะๆ เพราะจะไปกระตุ้นให้แบคทีเรีย หรือ ยีสต์ มาเยี่ยมเยียนมากขึ้น แต่อาจเหมาะกับบางคน เช่น คนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินหรือคนที่มีหนังศีรษะหรือผมที่แห้งมาก อย่างที่สอง คือ เรื่องการทำ “ผม” สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับ “ผม” คือ รักษาความสะอาด ดูแลผมแต่เพียงพอเหมาะ ไม่ทำร้าย “ผม” ด้วยความร้อนหรือสารเคมีบ่อยมากจนเกินไป รักษาสุขภาพและรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ก็เพียงพอสำหรับผมสวยได้ตลอดทั้งปีเลยค่ะ”
ผู้เขียน: พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี
- 1109 views