เมื่อพูดถึงวัณโรค บางคนอาจนึกถึงโรคปอด คือวัณโรคปอด แต่ความจริงวัณโรคอาจเป็นได้ในทุกๆอวัยวะของร่างกาย เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนังเละเยื่อหุ้มสมอง วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังและเป็นโรคที่แพร่ระบาดไปยังผู้อื่นได้ง่าย ผู้ที่เป็นวัณโรคหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรครุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงได้ การรักษาผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมาก ทั้งในแง่การดูแลผู้ป่วย การควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ และการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา โดยยาที่ใช้รักษาจะใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจนต้องหยุดการใช้ยา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลผู้ป่วยให้ทานยาอย่างครบถ้วนตามที่แพทย์แนะนำและพบแพทย์ตามนัด
น้องฝน (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในผู้ป่วยวัณโรคปอด น้องฝนมีอายุเพียง 19 ปี โดยน้องฝนจะต้องมาทานยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลทุกวัน เป็นไปตามกลยุทธ์การรักษาด้วยระบบยาระยะสั้นภายใต้การสังเกตโดยตรง (Directly Observe Treatment Short course หรือ DOTS) ยาที่น้องฝนได้รวมแล้ว 8 เม็ด
ในวันแรกๆ ที่ทานยาน้องฝนจะต้องเอาเม็ดยาทั้ง 8 เม็ดนั้นมาทุบๆ บดๆ ส่วนยาแคปซูลก็จะแกะเอาผงยาออกมาผสมน้ำหรือน้ำหวานก่อนทาน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการทานยาของน้องน้ำพูดคุยปรึกษาเพื่อให้เภสัชกรเตรียมเป็นยาน้ำ โดย ณ ขณะนั้นที่โรงพยาบาลไม่มีตัวทำละลายที่เหมาะสมกับยาวัณโรค เภสัชกรจึงได้วางแผนกันกับเจ้าหน้าที่ท่านนี้เพื่อจะสอนการกินยาเม็ด
ในวันรุ่งขึ้นที่น้องฝนมาโรงพยาบาล เภสัชกรได้พบปะพูดคุยกับน้องฝนก่อนที่จะทานยา โดยน้องฝนแจ้งว่าหากยาเม็ดเล็กๆ ก็จะสามารถกลืนได้ แต่จะกลืนทีละเม็ด แต่ถ้าเม็ดใหญ่นี้ไม่ได้ ยาแคบซูลก็กลืนไม่ได้
เมื่อพูดคุยกับน้องฝนได้หาทางออกร่วมกันคือ จะลองหักกินทีละ 1 ส่วน 4 เม็ดก่อน ต่อมาแบ่งครึ่งเม็ดแล้วกลืนทีละครึ่งก่อน ซึ่งน้องฝนก็กลืนได้ แต่ระยะเวลากินยาจะนานเพราะจะใส่ทีละครึ่งเม็ด แล้วต้องพักสักครู่แล้วกลืนใหม่ เภสัชกรมองเห็นความทรมานในการกลืนยาของน้องฝน แต่ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ด้วยความตั้งใจ ขณะที่มองพวกเราก็ให้กำลังใจ และร่วมลุ้นไปกับน้องฝน
ในที่สุดการกินยาครั้งถัดๆ ไปน้องฝนก็ค่อยๆ กลืนยาเม็ด ยาแคปซูลได้ จนกระทั่งการรักษาสิ้นสุด นอกจากน้องฝนหายจากวัณโรค ไม่แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นแล้ว น้องฝนยังสามารถกลืนยาเม็ดยาแคปซูลได้ แล้วส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในการกลืนกินยาอื่นๆ ของน้องฝนต่อไปในอนาคต
นอกจากอาการไม่พึงประสงค์จากยาวัณโรคแล้ว การกลืนกินยาที่ยากลำบากก็อาจส่งผลต่อการรักษาวัณโรคได้ การกินยาวัณโรคต้องกินต่อเนื่องยาวนาน 6 – 8 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยบางรายอาจไม่ให้ความร่วมมือในการกินยาไปเลยก็ได้ และหากผู้ป่วยที่กลืนยาลำบาก นำยาวัณโรคมาบดผสมรวมกันกับน้ำหวานเองอาจทำให้ยาด้อยคุณภาพได้ อาจส่งผลให้รักษาไม่หาย หรือเปลี่ยนเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยา ดังนั้นเภสัชกรจึงนับว่ามีบทบาทมากในการเสริมแรงความร่วมมือในการใช้ยาให้ต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาด้านยาของผู้ป่วย
ผู้เขียน : เพ็ญนภา ประภาวัต รพ.พุนพิน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
- 15581 views